“ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2568 น่าจะเป็นอีก 1 วันที่เกิดแรงสั่นทะเทือนในประเทศไทยแต่ไม่ได้มากจากแผ่นดินไหว แต่เกิดจาการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกาประกาศเรื่องของกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากประเทศต่างๆ ที่จะนำเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยจากที่เคยคิดกันมาตลอดว่าจะเป็นฐานการผลิตเพื่อหลับภัยเรื่องกำแพงภาษีของนักลงทุน นักธุรกิจจากต่างประเทศปรากฏว่าเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐถึง 36% การที่ประเทศไทยโดยเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาสูงขนาดนี้ย่อมมีผลต่อภาคการส่งออกรวมไปถึงภาคการผลิต และการลงทุนในระยะยาวแน่นอน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถเจรจาหรือทำให้กำแพงภาษีตรงนี้ลดลงได้ และคงมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวแน่นอน “ นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าว
การที่ประเทศไทยโดนเรื่องของกำแพงภาษีตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอาจจะสร้างความหนักใจและปัญหาหลายอย่างให้กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามประเทศอื่นๆทั้งโลกก็โดนเรื่องของกำแพงภาษีทั้งหมดอย่างน้อย 10% บางประเทศมากกว่าไทยอีก และประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งโดยตรงในการเป็นฐานการผลิตซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศไปจากประเทศไทยได้เยอะอย่างเวียดนามก็โดนเรื่องของกำแพงภาษีเช่นกัน และมากกว่าประเทศไทยด้วย โดยเวียดนามโดนไปถึง 46% ซึ่งสัดส่วนว่าประเทศใดโดนเรื่องภาษีมากน้อย น่าจะมีผลมาจากการที่ประเทศนั้นๆ ส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกามากน้อยเพียงใดด้วย
ประเทศไทยพึงพาสหรัฐอเมริกามากพอสมควร เพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 5.49 หมื่นล้านบาทหรือประมาณ 18.3% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย ดังนั้น ถ้าประเทศไทยเจอปัญหาเรื่องของกำแพงภาษีที่สูงขนาดนี้อาจจะกระทบมากพอสมควรเลย สินค้าที่มาจากประเทศไทยจะวางขายในสหรัฐอเมริกาด้วยราคาที่สูงขึ้น และคงขายได้ลดลง อีกทั้งอาจจะโดนแทนที่ด้วยสินค้าที่ผลลิตในสหรัฐหรือจากประเทศอื่นๆ ที่อาจจะเจอกำแพงภาษีที่ต่ำกว่าประเทศไทย ดังนั้น ภาคการผลิตสินค้าที่มีตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกาคงได้รับผลกระทบทันทีตอนนี้
นอกจากนี้กลุ่มของนักลงทุนต่างชาติที่คาดหวังว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตก็อาจจะชะลอการลงทุนในกรณีที่ยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อรอดูสถานการณ์ไปก่อน โดยเฉพาะกลุ่มของนักลงทุน นักธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นคนจีน หรือต่างชาติ แต่อย่างน้อยอัตราภาษีที่ประเทศไทยเจอยังน้อยกว่าเวียดนามที่เป้นคู่แข่งโดยตรงกับประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในไทยคงได้รับผลกระทบ แต่ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นถ้ารัฐบาลไทยมีการเจรจากกับทางสหรัฐอเมริกาแล้วมีการปรับลดภาษีลง อะไรต่างๆ ที่ชะงักไปก็จะกลับมาเดินหน้าตามแผนการลงทุนอีกครั้ง หรือถ้าไม่มีอะไรที่ดีขึ้นก็ยังเชื่อว่าจะมีการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยยังมีสิทธิเศษอื่นๆ ที่สามารถมาเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยลดแรงกดดันเรื่องภาษีตรงนี้ เช่น สิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือในกรณีที่ไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การมีฐานการผลิตในไทยยังสะดวกต่อการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังสามารถเจรจาเพื่อปรับตัวเลขจากการประเมินต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเพื่อจะได้มีผลต่อเนื่องมาถึงกำแพงภาษีที่ประกาศมา เพราะประเทศไทยก็มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้เช่นกัน เช่น สินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีเฉลี่ยที่ 27% และอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 9.8% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐเกือบ 3 เท่า ประเทศไทยยังมีการห้ามนำเข้าเชื้อเพลิงจากเอทานอล และมีข้อจำกัดในการนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมูและสัตว์ปีกจากสหรัฐอเมริกาด้วย รวมไปถึงประเทศไทยอยู่ในบัญชีจับตาของสหรัฐอเมริกาในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่มาของอัตราภาษีที่สหรัฐอเมริกาตั้งไว้ที่ 36% และเรื่องต่างๆ เหล่านี้ อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นเงื่อนไขในการเจรจาเพื่อปรับลดกำแพงภาษีได้ด้วย
ในกรณีที่กำแพงภาษีไม่สามารถปรับลดลงได้ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม การส่งออกของประเทศไทยมีปัญหาแน่นอน และถ้ายังไม่มีประเทศทดแทนยิ่งมีปัญหาก่อนหน้านี้มีหลายหน่วยงานประมาณการณ์ผลกระทบไว้ว่า ถ้าประเทศไทยเจอเรื่องของกำแพงภาษีจากสหรัฐอเมริกา 15% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ประเทศไทยประมาณ 1.5 – 1.6% แต่ถ้าเจอกำแพงภาษีที่ 36% ผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับอาจจะมากกว่า 3.6% เพราะค่อนข้างรุนแรง และมีผลกระทบเป็นวงกว้างแน่นอน ทั้งในเรื่องของการผลิต แรงงาน เงินหมุนเวียนในประเทศไทย ภาษีต่าง ๆ จะลดน้อยลงหรือหายไปเลย เพราะอาจจะมีการลดการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดกิจการไปเลย ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแน่นอน
ในกรณีที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและเห็นผลทันที คือ เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเห็นนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศไทยมากขึ้นในปีพ.ศ.2567 อาจจะลดน้อยลงในช่วงแรกๆ
ถ้าไม่มีการเจรจาหรือการเจรจาไม่เป็นผลก็อาจจะต้องทำใจยอมรับถึงการลดน้อยลงของเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศไทยมาลงทุนแล้ว ก็อาจจะชะลอการดำเนินกิจการ หรือไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่
ภาคอุตสาหกรรมทั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือโกดังสินค้าให้เช่า รวมไปถึงโรงงานและโกดังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่าอาจจะมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ผลที่ตามมาอื่นๆ อาจจะมีเรื่องของการเข้ามาของชาวต่างชาติที่จะลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาทำงานใประเทศไทย โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดนั้น ชาวจีนที่ทำงานในประเทศไทยแบบมีใบอนุญาตทำงาน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนมากถึง 45,646 คน มากเป็นอันดับที่ 1 และมากกว่าชาวญี่ปุ่นไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2565 ซึ่งถ้าชาวจีนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยลดลงอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงตลาดคอนโดมิเนียมบ้าง เพียงแต่ ณ ปัจจุบันอาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ยากสักหน่อยเพราะหลายๆ อย่างยังไม่ชัดเจน และอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด การเจรจาของทั้งรัฐบาลไทย และสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่เกิดขึ้น รวมไปถึงการต่อรองต่างๆ ด้วย สุดท้ายแล้วกำแพงภาษีอาจจะคงไว้ที่ 36% เหมือนที่ประกาศมาหรือลดลงก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ผลกระทบทางอออสังหาฯ
ด้านนายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือASW กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% จะมีผลต่อGDP ที่จะปรับตัวลดลง และในระยะสั้น จะมีผลต่อการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์
รัฐบาลคงต้องพิจารณา เจรจา ต่อรอง หาจุดที่พอดี คงไม่มีทางขึ้นภาษีตอบโตได้แบบจีนอย่างแน่นอน โดยไทยควรชี้แจ้งให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่า สินค้าตัวใดที่เราไม่มี การเอาเปรียบแก่สหรัฐบ้าง เพื่อเปิดทางเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์รายสินค้ากันต่อไป โดยหลักแล้ว เชื่อว่า สหรัฐคงต้องการตอบโต้จีนเป็นหลัก รวมถึงประเทศที่ จีน ใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าจีนนอกประเทศ
ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มที่มี โรงงานอุตสาหกรรมของจีนมาลงทุน ตามนิคมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นสินค้าจากประเทศจีน ส่งออกไปยังสหรัฐ อยู่จำนวนมาก
ทั้งนี้ แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีนี้ แต่ยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อมบ้าง ทั้งจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง รายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่อาจหดตัว และต้นทุนการก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเทคโนโลยี วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างจากสหรัฐ เช่น ระบบเครื่องกล เทคโนโลยีอาคารสีเขียว หรือวัสดุก่อสร้างระดับพรีเมียมที่หลายโครงการยังต้องพึ่งพา ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม ในมุมของบริษัท มองว่า สิ่งที่ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดในช่วงเวลานี้ ยังคงเป็น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
แนวทางรับมือของบริษัทในระยะสั้น จึงยังคงเป็นการสื่อสารเรื่องความปลอดภัยความแข็งแรงของคอนโดจากแอสเซทไวสและให้บริการพาชมโครงการให้เห็นถึงความเรียบร้อยและมั่นใจรวมถึงมีโปรโมชั่นพิเศษจูงใจให้ตัดสินใจได้ในช่วงนี้ คิดว่าถ้าทำอย่างเหมาะสมก็จะมีความแตกต่างจากผู้พัฒนารายอื่นที่ยังติดปัญหาในการซ่อมแซมอาคารหรือมีปัญหาในเรื่องอาคารไม่มีความปลอดภัยด้านโครงสร้างได้
ในส่วนของภาครัฐ บริษัทหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมและสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระของผู้ซื้อและกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวและเรียกความมั่นใจกลับมา
จับตา2ประเทศเจรจากำลังภาษี
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือLALIN กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกานั้นในระยะสั้งนอกจากจะกระทบความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของกลุ่มนักลงทุนแล้ว ในส่วนของตลาดอสังหาฯ คงไม่ได้ผลกระทบใด แต่ในระยะกลาง และในระยะยาวแล้วหากรัฐบาลไทยไม่มีการเจรจาต่อรองใด ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเนื่องจากประเทศไทยมีรายได้หลักจากการส่งออกถึง60% และสหรัฐอเมริการ คือตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยโดยมีส่วนแบ่งการส่งออกถึง20%
“หากประเทศไทยไม่เจรจาหรือต่อรองกับสหรัฐอเมริกาแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกให้มีปริมาณที่ลดลง และกระทบกับรายได้ของประชาชนในประเทศนั่นหมายความว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคก็จะลดลลงไปและมีผลต่อการขอสินเชื่อบ้านและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาสัยของผู้บริดภคอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยต้องมีการเจรจากับอเมริกาแน่ และเชื่อว่าอัตราภาษีส่งออกที่สหรัฐตั้งไว้จะลดลงต่ำกว่าที่ประกาศออกมาภายใต้เงื่อนไขและข้อแลกเปลี่ยนของทั้ง 2 ประเทศ”