xs
xsm
sm
md
lg

พิษภาษี “ทรัมป์” อย่างต่ำ 2 ปี ฉุดหุ้นส่งออก US - ดันทองพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องผลกระทบ “ทรัมป์” ขึ้นภาษีสินค้าไทยคาดฉุดรั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2 ปี ต้นทุนเพิ่ม รายได้หาย กำไรหด ฉุดผลประกอบการ และราคาหุ้นทรุด กดดันภาพรวมเศรษฐกิจ เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศหาย จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ทดแทน ยกกลุ่มสินค้าอุปโภคในประเทศโดดเด่นและปลอดภัย ขณะที่ “ทองคำ” พุ่งไม่หยุด หลังธนาคารกลางทั่วโลกกังวลภาษีทรัมป์ แห่ตุนทองคำเพิ่ม หนุนตั้งแต่ต้นปีขึ้นไปแล้ว 8,000.-

ดัชนีหลักทรัพย์ปรับลดลงเกือบ 48 จุด มาอยู่ที่ 1,125.21 จุด หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ เคาะตัวเลขเก็บภาษีนำเข้า​ ที่ไทยถูกตั้งภาษี 36% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน จนเกิดแพนิคต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ทันทีที่มีข่าวการขึ้นภาษี Set Index ได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จึงเกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐฯในสัดส่วนที่สูง จะได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางชนิด ถูกแรงเทขายกดดันออกมา

กระทบ GDP - เม็ดเงินลงทุน

นั่นเพราะนักลงทุนจะกังวลว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัท และนำไปสู่การเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ จนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของตลาดหุ้นโดยรวม นำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไปยังตลาดอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เห็นได้ชัดจากการลดลงของหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการลงทุนจากต่างชาติอาจลดลง

ล่าสุดเริ่มมีคาดการณ์ว่าการขึ้นภาษีนี้อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยหลายแสนล้านบาท และอาจทำให้ GDP ลดลงเกือบ 2% แต่ผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่สหรัฐฯ กำหนดและประเภทของสินค้าไทยที่ถูกเก็บภาษี หากอัตราภาษีไม่สูงมาก หรือสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจจำกัด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นถัดไปที่นักลงทุนเฝ้าติดตามคือการตอบสนองของรัฐบาลไทย ในเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก หรือการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบ อาจช่วยบรรเทาความกังวลของนักลงทุนได้

ฉุดรายได้ - กำไรไม่ต่ำกว่า 2 ปี

มีการประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยของสหรัฐ ต่อตลาดหุ้นไทยว่า ในระยะกลางถึงระยะยาว เรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย อย่างมีนัยสำคัญ มากยิ่งขึ้นในอนาคต เริ่มที่ผลกระทบโดยตรง (ระยะสั้น - 1-6 เดือน ) คาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และการปรับตัวลงของราคาหุ้นในกลุ่มส่งออกอย่างชัดเจน ขณะที่แรงเทขายและความกังวลต่อผลประกอบการจะยังคงอยู่

ต่อมาผลกระทบทางเศรษฐกิจ (ระยะกลาง - 6 เดือน - 2 ปี) ผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่แท้จริงจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ยอดขายและกำไรของบริษัทส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะลดลง หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวหรือหาตลาดใหม่ได้ อาจนำไปสู่การลดกำลังการผลิต การเลิกจ้างงาน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะกดดันตลาดหุ้นในวงกว้าง

อีกทั้ง ผลกระทบเชิงโครงสร้าง (ระยะยาว - 2 ปีขึ้นไป) มีการประเมินว่าการขึ้นภาษีอาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตและการส่งออกของไทย บริษัทอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิต หาตลาดใหม่ หรือปรับปรุงสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องใช้เวลาและอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของบริษัทในระยะยาว

ทำให้หลายต่อหลายคนมุ่งหวังว่า หากเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงเติบโตได้ดี ตลาดอื่นๆ ยังมีความต้องการสินค้าไทย ก็อาจช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการลดหย่อนผ่อนปรนผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดขึ้นและมีทางออกที่ดีกว่านี้ ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นให้ฟื้นตัวกลับมา

“การขึ้นภาษีในอัตรา 37% จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย จนอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากหลายแสนล้านบาท หรืออาจถึง 1 ล้านล้านบาท และฉุดรั้งการเติบโตของ GDP ไทยให้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและกดดันราคาหุ้นในตลาด”

จากข้อมูลพบว่าในปี 2567 (2024) มูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 56,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากร ได้เปิดเผยข้อมูล 20 อันดับสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2567-2568 พบว่ามีสินค้ามูลค่าสูงหลายรายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท ดังนั้นหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 37% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.8 แสนล้านบาท

เจาะผลกระทบแต่ละกลุ่ม

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ได้ไล่ลำดับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อหุ้นในกลุ่มต่าง ๆ ในตลาดหุ้นไทย พบว่า กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอันดับต้น ๆ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้นการขึ้นภาษีในอัตราสูง จะทำให้ราคาสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ยอดขายและกำไรของบริษัทในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง จนนำไปสู่การเทขายหุ้น

กลุ่มถัดมา คือ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญไปยังสหรัฐอเมริกา การขึ้นภาษีจะเพิ่มต้นทุนของชิ้นส่วนเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ในสหรัฐฯ อาจหันไปซื้อจากแหล่งอื่น หรือส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย จึงทำให้หุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ลำดับต่อไป คือกลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดสำคัญสำหรับยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทย เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง การขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและยอดขายของบริษัทในกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารแปรรูปบางชนิด แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งหมด แต่หากมีการเก็บภาษีในบางรายการ หรือหากความเชื่อมั่นโดยรวมของนักลงทุนลดลง หุ้นในกลุ่มนี้ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมได้

ท้ายสุดคือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่มีลูกค้าหลักเป็นผู้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากลูกค้าอาจลดกำลังการผลิตหรือย้ายฐานการผลิต ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ส่องกลุ่มไม่ได้รับผล

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น กลุ่มสินค้าและบริการที่เน้นตลาดในประเทศ นั่นเพราะบริษัทที่รายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (ที่เน้นตลาดในประเทศ) ถัดมาคือกลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มธนาคาร (ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อในประเทศ) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีน้อยกว่ากลุ่มส่งออก อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกลุ่มเหล่านี้ได้เช่นกัน

รวมไปถึงกลุ่มสินค้าส่งออกไปยังตลาดอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา นั่นเพราะบริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ เช่น จีน อาเซียน หรือยุโรป จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก

อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยคือ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กลุ่มเหล่านี้มักจะมีความผันผวนน้อยกว่าตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ แต่ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้

จี้รัฐเร่งแก้ไขก่อนธุรกิจพัง

สำหรับผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัว หลังคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ลดลง ทำให้โรงงานและผู้ผลิตในไทยจะต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การลดการจ้างงาน รวมไปถึงเกิดการลงทุนลดลง จากความไม่แน่นอนและแนวโน้มการส่งออกที่ลดลง อาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนใหม่ หรือลดการขยายธุรกิจ

นำไปสู่ การลดลงของรายได้ในภาคส่งออกและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้มีการประเมินว่า GDP ไทยอาจเติบโตลดลงอย่างมาก หรืออาจหายไป 1-1.35% กล่าวคือเหตุการณ์อาจทำให้ GDP เติบโตต่ำกว่า 2% ในปี 2568

นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอาจช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทและกระตุ้นการลงทุนได้บ้าง แต่ในภาวะที่ความเชื่อมั่นยังต่ำ ผลกระทบอาจไม่มากนัก ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอาจทำให้ผลตอบแทนจากเงินฝากและตราสารหนี้ลดลง ซึ่งอาจดึงดูดนักลงทุนบางส่วนให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นได้ แต่ก็ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย

โอกาสได้หุ้นดีราคาถูก

แต่สถานการณ์ที่เลวร้าย ก็มีโอกาสดีๆที่น่าสนใจสำหรับตลาดหุ้นไทย เช่นกัน นั่นเพราะตลาดที่มีความไม่แน่นอนมักจะมีความผันผวนสูง ซึ่งอาจสร้างโอกาสในการซื้อขายระยะสั้นสำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญและรับความเสี่ยงได้ ขณะเดียวกันหากราคาหุ้นปรับตัวลงมากเกินไปเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท อาจเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่มองเห็นศักยภาพในอนาคต

ไม่เพียงเท่านี้ สำหรับบริษัทที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี สามารถลดต้นทุน หาตลาดใหม่ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาจยังคงสร้างผลกำไรได้แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย นั่นทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจยังคงโดดเด่นและน่าสนใจ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น (Non-Cyclical Consumer Staples) เนื่องจาก ผู้บริโภคยังคงมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าเหล่านี้แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัว ยา กลุ่มบริษัทเหล่านี้อาจมีความผันผวนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ

ถัดมาคือ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) ธุรกิจไฟฟ้า น้ำประปา มักมีความต้องการที่ค่อนข้างคงที่ และมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ทำให้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

กระทบหุ้นแค่วงจำกัด

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีนักวิเคราะห์บางส่วนมองเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเพียงแค่ในวงจำกัดเท่านั้น เนื่องจาก ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยราคาปรับลงมาเยอะมากแล้ว และยังมีหุ้นหลายกลุ่มที่มองว่าน่าจะเป็นแหล่งพักเงินที่มีความปลอดภัยแต่ยังต้องติดตามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบผ่านราคาสินค้าที่ลดลงในตลาดโลก จากความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นอย่างเช่นกลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ต้องระวังมากขึ้นเพราะถ้าหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็อาจจะลดลงในช่วงถัดไป

“การขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐที่มีต่อไทย 36% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้าซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP แต่มองผลกระทบที่จะส่งต่อมายังตลาดหุ้นไทยนั้นจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเนื่องจากสัดส่วนผู้ส่งออกในตลาดมีน้ำหนักไม่มากในตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเมื่อพิจารณาจาก ความสัมพันธ์ของหุ้นโลก พบว่าดัชนี Set Index อยู่ต่ำมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงมีการคาดการณ์ Set Index ในไตรมาสที่ 2 ไว้ที่เดิม คือ แนวบริเวณ 1,150 จุดและ 1,100 จุด”

สาเหตุหลักของการประเมินกรอบ Set Index ที่ระดับกลังกล่าว เพราะ valuation ที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่ระดับ 1,100 จุดก็เป็นระดับที่ซื้อขายด้วย Forward P/BV ที่ 1.07 เท่าหรือเทียบเท่าจุดต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19

ขณะเดียวกันประเมินว่าการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐเป็นเพียงการขู่เพื่อหาช่องทางในการเจรจา จึงเชื่อว่าในช่วงสุดสัปดาห์นี้แทบทุกประเทศที่ถูกปรับขึ้นภาษี จะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯเพื่อลดผลกระทบต่อนโยบายภาษีเพื่อให้สถานการณ์ในตลาดผ่อนจากหนักเป็นเบา

โดยกลุ่มหุ้นที่น่าจะเป็นแหล่งพักเงินที่สำคัญของตลาดหุ้นไทยได้ก็คือกลุ่ม Property Fund และ Reit ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อาจจะต้องปรับลดอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ และหุ้นกลุ่มสื่อสารที่ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษี รวมถึงกลุ่มค้าปลีกที่ยอดขายสาขาเดิมมีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากนโยบายภาครัฐ และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐท้ายสุดคือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งในระยะสั้นจะได้ประโยชน์จากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังจากเกิดแผ่นดินไหว

ความกังวลดันทองพุ่ง

ขณะที่ “ทองคำ”อีกหนึ่งสินทรัพย์ลงทุนในช่วงนี้ พบว่าราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯก็ถูกยกให้เป็นสาเหตุสำคัญต่อราคาทองคำในรอบนี้ หลังจากขึ้นไปทำ All Time High ที่ระดับประมาณ 3,167 ดอลลาร์/ออนซ์ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากนั้นก็ค่อยๆปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (31มี.ค. – 4 เม.ย.) โดยราคา Gold Spot กลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 3,090 ดอลลาร์/ออนซ์นั่นทำให้ราคาทองคำในประเทศ (96.5%) ปรับตัวอย่างร้อนแรงเช่นกัน จากต้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 49,650 บาทขยับขึ้นมาอยู่ที่ 51,250 บาท และย่อตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทในช่วงปลายสัปดาห์

ภาพรวมราคาทองคำโลก และราคาทองคำไทยปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% แล้วนับตั้งแต่ต้นปี จากราคาทองคำโลกต่ำสุด 2,614 ดอลลาร์/ออนซ์ ขึ้นมาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3,167 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ราคาทองไทยปรับตัวสูงสุดมากกว่า 51,250 บาท จากจุดต่ำสุดของปีอยู่ที่ประมาณ 42,500 บาท

นั่นเพราะนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลในเรื่องของมาตรการทางภาษีของ”โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเอฟเฟกต์ต่อตลาดเงินและตลาดทองคำทั่วโลก จนราคาเพิ่มขึ้นกว่า 500 ดอลลาร์/ออนซ์จากช่วงต้นปี หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 8,000 บาท หรือขึ้นมาเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งปี 2024

จนมีการประเมินว่าราคาทองคำโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7-10% นั่นเพราะโยบายการค้าของสหรัฐส่งผลทำให้ธนาคารกลางต่างๆต้องซื้อทองคำตุนเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องความเสี่ยงในค่าเงินของประเทศตนเอง และนั่นทำให้ต่อจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำน่าจะมีผลมาจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ รวมไปถึงสงครามทางภูมิศาสตร์ รัสเซีย-ยูเครนและตะวันออกกลางที่ยังไม่มีท่าทียุติ กลายเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้อยุ่ในทิศทางขาขึ้นต่อไป

โดยทิศทางจากนี้ต้องจับตาท่าทีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค่าที่ถูกประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งหากมีผลออกมาเชิงลบก็จะกลายเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ ไม่เพียงเท่านี้ต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วยว่า จะมีน้ำหนักในการลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและมากขึ้นมากน้อยเพียงใดเพราะประเด็นนี้จะเป็นแรงผลักดันต่อราคาทองคำเช่นกัน เพราะหากเฟดมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ถี่ หรือน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำได้เช่นกัน ทำให้โดยรวมหลายฝ่ายเชื่อว่า ราคาทองคำในปีนี้ ยังคงไต่ระดับได้มากกว่า 3,200 – 3,500 ดอลลาร์/ออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น