โบรกฯ เปิดโผ หุ้นส่งออกไปสหรัฐฯ กลุ่มไหนกระทบมาก- น้อย หลังสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าไทยสูงถึง 37% ตั้งแต่กลุ่ม อาหาร - เกษตร - อิเล็กฯ - แพ็คเกจจิ้ง โดยมองกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง-ทูน่ากระป๋อง เสี่ยงสูง ระบุ ITC กระทบมากสุด เหตุมีสัดส่วนไปสหรัฐฯ ถึง 50% แต่ CPF และ GPFT ที่มีธุรกิจสัตว์บก เช่น ไก่/สุกร คาดได้รับผลกระทบน้อย เพราะไม่ได้ส่งออกโดยตรงไปสหรัฐ ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง - น้ำมัน - โรงไฟฟ้า รับผลกระทบในระดับต่ำ แนะลงทุนในหุ้น domestic play
ASPS ชี้ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง-ทูน่ากระป๋อง เสี่ยงสูง - ITC กระทบมากสุด
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล. เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินผลกระทบแต่ละอุตสาหกรรมที่จะได้รับมากน้อยเพียงใด หลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 37% เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง คาดส่งผลกระทบจำกัด เนื่องจากสินค้าวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก การส่งออกไปสหรัฐจึงมีเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงจากลูกค้าเท่านั้น ได้แก่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และสินค้ารักษ์โลก โดย SCC มีสัดส่วนขายสินค้าไปสหรัฐประมาณ 1% ของยอดขายทั้งหมด เช่น ปูน LOW CARBON CEMENT
2. กลุ่ม PACKAGING ส่งผลกระทบทางตรงต่อ SCGP ไม่มาก โดยSCGP มีสัดส่วนรายได้ไปสหรัฐ คิดเป็น 3% ของรายได้ทั้งหมด สินค้าส่งออกหลักคือ POLYMER PACKAGING และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งปัจจุบันมีภาษีนำเข้า 15-20% หากการขึ้นภาษีทำให้การนำเข้าของสหรัฐลดลง SCGP ก็สามารถ ALLOCATE สินค้าไปขายที่ตลาดอื่นๆ ได้ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของ SCGP เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ยังมี DOMESTIC CONSUMPTION เติบโตดี
3. กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คาดผลกระทบโดยตรงจากการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปิโตรเคมีส่งออกไปสหรัฐฯไม่มีนัยฯ โดยตลาดปิโตรเลียมปิโตรเคมีของไทยอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก แต่ทั้งนี้คาดจะได้รับผลกระทบทางอ้อมแทน เนื่องจากหากหลายๆประเทศผุ้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่ส่งออกไปสหรัฐฯแล้วโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้องหาตลาดใหม่ในการส่งออกแทนสหรัฐฯ จึงมีโอกาสที่ SUPPLY จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียซึ่งประเทศไทยใช้อ้างอิงอยู่ปรับตัวลดลงได้ ประกอบกับการเกิด TRADE WAR ในครั้งนี้ในมุมมองภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกอาจทำให้อยู่ในภาวะชะลอตัวได้ ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้สินค้า COMMODITY ที่แปรผันตาม GDP
4. กลุ่มโรงไฟฟ้า หุ้นโรงไฟฟ้าที่ฝ่ายวิจัยศึกษา คาดไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไม่มีสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามคาดได้รับผลกระทบทางอ้อม 2 กรณี ดังนี้
- กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น BGRIM, GCPS, GULF เป็นต้น คาดจะได้รับผลเชิงลบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่อาจปรับตัวลดลง
- ผู้ประกอบการที่มีโครงการโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ เช่น BPP, BCPG, EGCO, BGRIM, GULF เป็นต้น อาจได้รับ SENTIMENT เชิงบวกในระยะยาว จากคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น ตามการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น และเพื่อทดแทนการนำเข้าไฟฟ้าจากแคนาดา ที่อาจถูกเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯที่สูง
5 . กลุ่มเกษตรอาหาร คาดได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐ โดยประเมินกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง(แมว/สุนัข) และทูน่ากระป๋อง มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มสัตว์บก (สุกร/ไก่) หากพิจารณรายบริษัทคาด ITC กระทบมากสุดเนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ไปสหรัฐสูงราว 50% ของรายได้ปี 2567 และปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ 0% ขณะที่ TU มีสัดส่วนรายได้จาก US ราว 39% ในนี้มาจากฐานการผลิตในสหรัฐ มากกว่า 25% และที่เหลือนำเข้าไทยราว 10% สินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ตามด้วยทูน่ากระป๋อง ซึ่งมีการเก็บภาษีนำเข้าอยู่ที่ 12%
ส่วน CPF และ GPFT ที่มีธุรกิจสัตว์บก เช่น ไก่/สุกร คาดได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากไม่มีการส่งออกโดยตรงไปสหรัฐ แต่ในทางกลับกัน มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการมีเจรจาเปิดตลาดนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง ย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนอาหารสัตว์สำหรับกลุ่มสัตว์บก
6. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดมีผลกระทบต่อ DELTA และ KCE ที่มีสัดส่วนยอดขายไปสหรัฐประมาณ 26% และ 20% ของยอดขายในปี 2567 ตามลำดับ ซึ่งต้องติดตามแนวทางการรับมือของทั้ง 2 บริษัทต่อภาษีตอบโต้นี้ โดยเรามองว่ามีโอกาสที่ DELTA ที่ปัจจุบันมีโรงงานในสหรัฐที่ดีทรอยด์ (ใช้ผลิตชิ้นส่วนฯสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) อาจปรับการผลิตบางส่วนเพื่อมาผลิตสินค้าอื่นๆด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางภาษีดังกล่าว ส่วน CCET น่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุด เพราะยอดขายส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศเกือบ 70% ขณะที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐเพียง 1% ของยอดขาย อย่างไรก็ตามภาษีตอบโต้ที่อัตรา 36% ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 3 บริษัท ที่จะส่งออกไปสหรัฐต่ำไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน และเวียดนาม ที่จะถูกคิดภาษีในอัตราที่สูงกว่าไทย
ฟินันเซีย มอง ITC - TU -ASIAN - AAI รับผลกระทบหนัก
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กรณีที่ สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 37% จะกระทบต่อกลุ่มเกษตรอาหารมากสุด โดยได้แยกสัดส่วน หุ้นแต่ละบริษัท ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุดดังนี้
- บริษัทในกลุ่มอาหารที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่ ITC (50% ของรายได้รวม), TU (30%), ASIAN (50%), AAI (67%) ส่วน RBF อาจถูกกระทบทางอ้อม จากเวียดนามที่โดนเก็บภาษีจาก US ที่ 46%
- กลุ่มเครื่องดื่ม สัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ ได้แก่ PLUS (44%), COCOCO (24%), SAPPE (13%)
- สำหรับกลุ่มเกษตร ได้แก่ กลุ่ม STA มีสัดส่วนรายได้ US 13% มาจากธุรกิจยาง 7% และถุงมือยาง STGT 18%
- กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม้ในข่าวจะระบุว่า Semiconductor ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งจะใกล้เคียงกับสินค้าของ HANA (ขายไป สหรัฐฯ 26%) ที่มีการขาย IC แต่ยังมีรายได้จาก PCBA ไม่ได้รับการยกเว้น ส่วน DELTA (26%) และ KCE (21%) ไม่จัดอยู่ในกลุ่ม Semiconductor
สำหรับ กลยุทธ์ลงทุนหลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ไทยที่ 37% สูงกว่าตลาดคาด 10-20% โดยรวมเราเชื่อเศรษฐกิจไทยน่าจะมี downside กว้างขึ้น จากก่อนสหรัฐประกาศขึ้นภาษี กระทรวงพาณิชย์ได้คาดสหรัฐจะปรับขึ้นภาษีไทยระดับเดียวกับของไทยที่ 10% ซึ่งจะกระทบต่อ GDP growth 0.2-0.6% แต่สหรัฐได้ปรับขึ้นภาษีเกินคาดค่อนข้างมาก ส่วนเราคาดว่าทุกๆ 1% ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐลดลง จะกระทบต่อ GDP growth ลดลงราว 0.1%
ดังนั้นเราจึงน่าจะเห็นตลาดมีปรับลด GDP growth ต่ำกว่า 2% ใน 2Q25 สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เรายังเน้นลงทุนในหุ้น domestic play Top picks คือ BA, BBL, BTG, CPALL,MTC, NSL, PR9 SEAFCO และ SHR