xs
xsm
sm
md
lg

คลังถกภาษีทรัมป์ เร่งเจรจาสหรัฐ หวั่นกระทบจีดีพีหด 1 %

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีคลัง เผยหารือหน่วยงานเศรษฐกิจ กำหนด 3 แนวทางรับมือ มาตรการภาษี ทรัมป์ เน้นปรับสมดุลการค้า โดยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้นเพื่อนำมาผลิตและส่งออก เตรียมนำทีมไปเจรจากับสหรัฐฯ ภายใน 2-3 สัปดาห์ ชี้หากไม่ทำอะไรเลยอาจกระทบจีดีพีไทยอย่างน้อย 1%

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจถึงแนวทางรับมือหลังจากสหรัฐฯ หลังประกาศขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% ว่า เรียกหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฯลฯ มาประชุมเพื่อตั้ง War Room รับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยผลการหารือสรุปได้ดังนี้

ปัจจุบันไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 70% ดังนั้นเพื่อรับมือกับมาตรการภาษีจึงต้องทำให้สัดส่วนการเกินดุลของไทยที่มีต่อสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางเพื่อเจรจากับสหรัฐไว้ดังนี้
1.นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น โดยไทยพร้อมนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐ เช่น ข้าวโพด
2.สินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ต้องเป็นสินค้าที่สามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปในไทยเพื่อส่งออกได้ เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศ

“เราจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อนำมาผลิต แปรรูป และส่งออกไปสหรัฐฯ ให้มากขึ้น เพื่อทำให้การเกินดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับไทยลดลง โดยไทยพร้อมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายชนิด เช่น ข้าวโพด ปลาทูน่า ซึ่งรัฐบาลพร้อมแก้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่เพื่อให้นำเข้าสินค้าบางรายการเข้ามาได้จากปัจจุบันที่นำเข้าไม่ได้”

3.ส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมาขึ้น ด้วยการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ซึ่งเป็นเอกสารใช้เพื่อรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่าส่งออกมาจากประเทศใดให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

“จะเห็นว่าปัจจุบันยอดส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ยอดการผลิตไม่เพิ่มขึ้น เพราะมีธุรกิจที่มาจดทะเบียนในไทยแต่ไม่ได้ผลิตในไทย ดังนั้นเราก็ต้องทำเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้นเพื่อทำให้ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในไทยลดลง”

ทั้งนี้มาตรการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการลดการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ แต่เป็นทำให้ช่องว่างของการได้เปรียบดุลการค้าลดลง ความสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการเพื่อนำมาผลิตและส่งออกให้ได้ โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

นอกจากมาตรการภาษีแล้วสหรัฐฯ ยังดำเนินการเรื่องมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff barriers) โดยการรับมือในเรื่องนี้ไทยจะลดกฎเกณฑ์รวมถึงภาษีนำเข้าสินค้าที่สหรัฐมองว่าเป็นกำแพงการกีดกันทางการค้า

“ตอนนี้มีสินค้าบางอย่างที่เรากำหนดกำแพงภาษีไว้สูง แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้นำเข้าสินค้านั้นเลย พอคนเขาดูเขาก็ว่าเราเก็บแพงแต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เก็บเพราะไม่ได้นำเข้า เรื่องนี้ก็อันตรายกับเรา ทำให้คนอื่นเขามองเราเป็นผู้ร้าย ดังนั้นเราก็ต้องไปแก้ตรงนี้ เช่น มอเตอร์ไซค์ ฮาร์เลย์ เราตั้งกำแพงภาษีไว้สูง 40-60% แต่สหรัฐฯ เขาอยากมาขายที่ไทยเขาเลยมาตั้งฐานการผลิต ดังนั้นภาษีตรงนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งไว้สูงแล้ว”

รมต.คลัง กล่าวต่อไปว่า จะเร่งรัดการดำเนินการแนวทางดังกล่าวให้เร็วที่สุดและเตรียมนำทีมไปเจรจากับทางสหรัฐในเรื่องดังกล่าวภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ผลกระทบที่มีต่อไทยเกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งนี้ประเมินว่าหากไทยไม่ดำเนินการมาตรการทั้งหมดนี้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะกระทบกับจีดีพีไทยไม่น้อยกว่า 1%

“เรียกว่าเป็น World Crisis ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของการค้า ตอนนี้ไม่ว่าประเทศไหนก็กระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ถ้าให้คำนวนใหม่วันนี้ผมก็มองว่ากระทบจีดีพีเยอะ อย่างน้อยก็ 1% ดังนั้นเมื่อเรารู้ปัญหาแล้วเราก็ต้องหาทางแก้เพื่อดึง 1% นั้นกลับมา”

สำหรับนโยบายการเงินต้องมีส่วนช่วยหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามอยากให้นโยบายการเงินเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกโดยเฉพาะเรื่องค่าเงินที่ควรอ่อนค่ากว่าประเทศอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น