xs
xsm
sm
md
lg

SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้อีกไม่มากในระยะสั้น-แต่ปลายปียังไม่แน่นอนสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า แม้สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าที่คาด แต่เงินบาทยังอ่อนค่าตามกรอบที่ประเมินไว้ สำหรับในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เพราะสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยบรรลุข้อตกลงได้ ก็อาจทำให้ตลาดคลายความกังวลและแรงกดดันต่อเงินบาทอาจลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65

สำหรับในระยะกลาง-ยาว SCB FM มองว่า หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด เงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้ แต่หากผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off เงินบาท ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ล่าสุดนี้ ทำให้ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น และมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าแรง โดยหลังทรัมป์ประกาศมาตรการ เงินบาทอ่อนค่าขึ้นถึง 30 สตางค์ ก่อนที่จะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และล่าสุดอยู่ที่ราว 34.30 บาท นอกจากนี้ มาตรการยังส่งผลต่อตลาดการเงินโลกอีกด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับลดลงถึง 10-15 bps ขณะที่ราคาทองคำสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเงินเยนแข็งค่า (ด้วยมุมมอง safe-haven currency) ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเปิดมาวันนี้ติดลบ ราคานำมันปรับลดลงเช่นกัน ตามความกังวลว่ามาตรการภาษีจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้ มองว่าปัจจัยเรื่อง Tariffs จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่านี้มากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีนี้ในการเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยหากไทยปรับลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้า (เช่น จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร) และอาจนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ รวมถึงออกไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น จะทำให้มีโอกาสที่สหรัฐฯ จะปรับภาษีลงจากที่ประกาศไว้ที่ 36% ได้ ซึ่ง SCB FM มองว่าโอกาสที่ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดภาษีลง มีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทจนถูกขึ้นภาษีเพิ่ม

นอกจากนี้ จะเห็นว่า Reaction ของตลาดในช่วงที่ผ่านมาไม่รุนแรงนัก เพราะมาตรการยังมีความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่าย จากที่ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแก้ไขได้ทุกเมื่อ จึงทำให้ตลาดยัง Price-in โอกาสที่จะลดอัตราภาษีลงได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ คือการจ่ายเงินปันผล (Dividend payout) ของผู้ประกอบการต่างชาติกลับไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า การจ่ายเงินปันผลในปีนี้อาจสูงกว่าปีก่อน นำโดยเงินปันผลของกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี โดยนับตั้งแต่กลางเดือนนี้ต่อเนื่องถึงเดือนหน้าอาจมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทย กดดันให้บาทอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ เมื่อผนวกกับความเสี่ยงเรื่อง Tariffs จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในกรอบ 34.15-34.65

สำหรับในระยะกลาง-ยาว มองว่าความไม่แน่นอนยังสูง และแนวโน้มเงินบาทอาจขึ้นอยู่กับผลกระทบของของมาตรการ Tariffs ต่อเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นของตลาดที่ส่งผลต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Portfolio reallocation) ในกรณีฐาน หากประเทศอื่น ๆ ไม่มีการตอบโต้รุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีจำกัด ขณะที่เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นราว 1-2% ก็อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น และกลับมาอ่อนค่าต่อได้เล็กน้อยในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการภาครัฐในภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ที่จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง ทำให้ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีนี้อาจอยู่ที่ราว 32.50-33.50 ได้

ในกรณีที่ผลกระทบจากมาตรการ Tariffs ต่อภาพรวมเศรษฐกิจออกมารุนแรง ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อ Recession risk เกิดเป็น Risk-off นักลงทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าเร็ว US Treasury yields อาจปรับลดลง ขณะที่เงินภูมิภาคจะอ่อนค่าเพื่อ cushion ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในกรณีนี้ SCB FM มองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ณ ปลายปีอาจอ่อนค่าไปที่ราว 34.00-35.00 ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า/ส่งออกควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้บางส่วน ผ่านการใช้ FX Forward ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และอาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น