xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งคลอดมาตรการฉุดอสังหาฯ พ้นปากเหว ยอมรับแผ่นดินไหวกระทบ ศก.ไทยระยะสั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ในกระบวนการพิจารณามาตรการ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในภาวะที่มีการสูญเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งหลังจากได้มีการหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่าจริง ๆ แนวโน้มของธุรกิจในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง ที่เชื่อมั่นว่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อมาเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยอมรับว่ามีความหนักใจ โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสีย

"แน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการเยียวยา ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนมาตรการเรียกความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเร่งออกมา ที่ต้องเร่งพิสูจน์ให้ได้ว่า หลังจากนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้แล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้น คาดว่าจะได้ยินข่าวดีในเร็ววันนี้" นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยดำเนินการ และพิสูจน์แล้วว่าเมื่อทำควบคู่กันจะมีประสิทธิภาพสูง คือ 1. มาตรการ LTV และ 2. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 1 ปีหลังโควิด-19 ที่เติบโตสูงถึง 11-12% แต่หลังจากหมดมาตรการ LTV เหลือเพียงมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ก็ไม่ค่อยประสบผลเท่าไร ดังนั้นจึงพิสูจน์ได้ว่าหากดำเนินการ 2 มาตรการควบคู่กัน จะมีผลดีกับภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างมาก

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ คือการเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับมา โดยเฉพาะการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิศวกรรมว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มีเพียง 1 ตึกที่ปัญหา ขณะที่ตึกอื่น ๆ ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้ววว่าไมมีปัญหา ขณะเดียวกันรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ก็พร้อมที่จะมี่มาตรการเข้าไปรองรับ เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงกับแต่ละช่วง และแต่ละกลุ่มที่ต้องการด้วย โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มคอนโดมิเนียมสูง ที่หลีกเลี่ยงความวิตกกังวลจากเหตุการณ์นี้ไม่ได้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568

*แผ่นดินไหวกระทบ ศก.ไทยระยะสั้น

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยอมรับว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจกระทบในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้อ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินตัวเลขความเสียหายออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ได้มีการประเมินผลกระทบในภาคใหญ่แล้ว ซึ่งภาพรวมในระยะกลาง และระยะยาวไม่มีผลกระทบ

พร้อมกันนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเป้าหมาย GDP ปีนี้ที่ 3% แต่ภาครัฐเองจำเป็นต้องใช้กลไกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาท จะต้องลงสู่ระบบ และช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายจีดีพีปีนี้ว่าต้องเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3%

รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยกรมบัญชีกลาง ได้ขยายวงเงินทดรองราชการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 200 ล้านบาท และมีมาตรการสินเชื่อจากสถาบันการเงินเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการลดเงินต้น และลดดอกเบี้ย

พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังได้ให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณารายละเอียดในการช่วยเหลือ และการเยียวยาประชาชน เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยเจอเหตุการณ์รุนแรงในลักษณะเช่นนี้ จึงต้องไปดูประวัติการเยียวยาในอดีตทั้งหมดว่ากลไกเยียวยาช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาคารบ้านพัก และชีวิตประชาชน ซึ่งจะต้องดำเนินการเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ โดยหน่วยงานที่เป็นต้นเรื่องจะต้องนำเสนอเข้า ครม.

"ต้องไปดูเกณฑ์เก่า เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิที่ จ.ภูเก็ต หรือตอนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ว่ามีการช่วยเหลืออย่างไร แล้วมาดูความเหมาะสม" นายจุลพันธ์ ระบุ

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อยู่ระหว่างการเร่งประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา โดยยอมรับว่าต้องดูในรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะไม่สามารถคำนวณความเสียหายแบบตรงไปตรงมาได้ แต่ต้องเป็นการคำนวณจากการรับรู้ และความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วนทั้งหมด

"อาจจะเร็วไปที่จะพูดเรื่องผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา 100% ตอนไหน โดยมองว่าหากสามารถกลับมาได้เร็ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็น้อย เพราะต้องเข้าใจว่าสัดส่วนใหญ่ของความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดกับความเชื่อมั่นเป็นหลัก ขณะที่ความเสียหายจากสิ่งปลูกสร้าง อาจจะไม่ได้สูงมาก ซึ่งเรื่องความเชื่อมั่นก็โยงไปถึงภาคการท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก" นายเผ่าภูมิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น