ตลาดหุ้นปิดฉากไตรมาสแรกปี 2568 ด้วยความผันผวนสุดขีด ดัชนี ฯ ร่วงหล่นอย่างต่อเนื่อง และปิดที่ระดับ 1158.09 จุด ลดลง 242.12 จุด เมื่อเทียบจุดปิดสิ้นปี 2567 ที่ระดับ 1400.21 จุด
3 เดือนแรกปีนี้ ดัชนี ฯ ทรุดลงเฉลี่ยเดือนละ 80.04 จุด และกลายเป็นไตรมาสที่เลวร้ายสุดขีดในรอบนับสิบปี สาเหตุเพราะไม่มีข่าวดีกระตุ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไม่หยุดยั้ง โดยไตรมาสแรกต่างชาติขายหุ้นสุทธิ 39,867 ล้านบาท
นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อขายเดียว 55,049 ล้านบาท และทั้งหมดแบกรับการขาดทุนอย่างหนัก
ข่าวร้ายพุ่งเข้าใส่ตลาดหุ้นตลอดไตรมาส โดยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เป็นปัจจัยลบหลักที่กดดัน ตามมาด้วยการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และประกาศเปิดสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษี
ความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่นิ่ง เพราะมีประเด็นที่บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ล่าสุดที่การเคลื่อนไหวปลุกม็อบต่อต้านการตั้งบ่อนกาสิโนที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติ
และปัจจัยลบล่าสุดที่ถล่มหุ้นจมดินคือ การเกิดแผ่นดินไหวเมื่อศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวร้ายส่งท้ายไตรมาสแรก
ความพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ไม่ประสบความสำเร็จ หุ้นจึงปักหลักดิ่งลงต่อเนื่อง แม้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์แทบทุกสำนักจะมีความเห็นว่า
ตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นแล้ว ซึมซับรับข่าวร้ายมากพอแล้ว และดัชนี ฯที่หลุดลงมาต่ำกว่า 1200 จุด นักลงทุนสามารถทยอยเข้าลงทุนได้ โดยเลือกหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี จ่ายเงินปันผลอัตราสูงอย่างสม่ำเสมอ
แต่นักลงทุนที่ทอยเข้ามาช้อนซื้อหุ้น มีเพียงรายย่อยเท่านั้น และขาดทุนทุกราคาที่ซื้อ เพราะหุ้นปรับฐานลงไม่หยุด มีจุดต่ำสุดใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ย่างเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว แต่สัญญาณในตลาดหุ้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีแนวโน้มหุ้นจะฟื้นตัวขึ้น และไม่มีมาตรการจากรัฐบาลที่จะปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้
ข่าวดี ๆ ยังขาดแคลนต่อไป แต่มรสุมข่าวร้ายลูกใหม่กำลังถาโถมเข้าใส่ โดยเฉพาะการเปิดสงครามการค้ารอบใหม่ของนายทรัมป์ การประกาศขึ้นกำแพงภาษีสำหรับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐในวันที่ 2 เมษายนนี้ และประเทศไทยอยู่ในข่ายที่จะถูกเล่นงาน
การขึ้นภาษี จะส่งผลกระทบซ้ำเติมประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งไม่สดใสเท่าไหร่อยู่แล้ว และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ปีนี้ โตต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลต้องการเห็นตัวเลขขยายตัว 3% หรือมากกว่า
ภาวะลงทุนในไตรมาสที่ 2 อาจไม่ผันผวนหรือทรุดตัวรุนแรงเหมือนไตรมาสแรก แต่ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า หุ้นจะฟื้นคืนสู่ความคึกคัก เพราะข่าวดีๆที่กระตุ้นตลาดขาดแคลน และรัฐบาลแพทองธาร ไม่มีมาตรการเรียกความเชื่อมั่นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนที่สามารถพลิกฟื้นหุ้นได้
การประกาศขึ้นภาษีสินนำเข้าของสหรัฐในวันที่ 2 เมษายนนี้ ประเทศไทยถูกกระทบแน่ แต่จะหนักเบาขนาดไหน ได้แต่เฝ้ารอดูกันเท่านั้น ในฐานะปัจจัยลบที่จะกดดันตลาดหุ้นไปตลอดไตรมาสที่ 2
แม้ไตรมาสแรก ดัชนี ฯ จะถอยหลังมาปักหลักที่ระดับ 1158 จุด ทรุดลงมาแล้ว 242 จุด จากจุดปิดสิ้นปี 2567 แต่เชื่อกันว่า ตลาดหุ้นยังไม่สิ้นสุดขาลง
เพียงแต่ไม่อาจคาดหมายได้ว่า จุดต่ำสุดของดัชนี ฯ ไตรมาสที่ 2 จะหยุดลงที่ตัวเลขเท่าไหร่ หลุด 1100 จุดหรือไม่เท่านั้น