นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(1เม.ย.68)ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.88-34.01 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก ต่างอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 3,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนมีนาคม และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 38% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตของจีน ในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง พร้อมทั้งรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า RBA อาจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทว่า เงินบาทยังอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways นอกจากนี้ ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น แม้ว่า เราจะเห็นแรงขายหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป และอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจยังมีความต้องการซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงวันก่อนหน้า โดยแรงซื้อสินทรัพย์ไทยก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ แม้ว่าจะถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงอย่าง ความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของค่าเงินบาท (USDTHB) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า การแกว่งตัวของเงินบาทในระดับ +/- 1SD อาจอยู่ในช่วงราว +/-0.20% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว