นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยมองมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.70-34.50 บาท/ดอลลาร์จากระดับเปิดเช้านี้(31มี.ค.68)ที่ 34.01 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.89-34.04 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรก เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 57 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในรายงานเดียวกันนั้น ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5.0% และ 4.1% ตามลำดับ
นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมีการประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ในเร็วนี้ ทั้งนี้ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ จากความกังวลแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา
สัปดาห์ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด แม้จะเผชิญแรงกดดันจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่เงินบาทก็พอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ จากฝั่งสหรัฐฯ และจีน พร้อมจับตา การประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งอาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นได้ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือแกว่งตัว Sideways
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หากทางการสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศไว้ ทว่าเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันได้ หากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ