"เปิดโฉมผู้รับเหมา หลังตึก สตง.ถล่ม! เจาะลึกโครงสร้างหุ้น 'ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10' ไทย-จีน ถือหุ้นสัดส่วนสูงสุดตามกฎหมาย พบกรรมการคนไทยร่วมถือหุ้นหลายบริษัท ด้านงบก่อสร้างพุ่ง 40% ใน 7 ปี ย้อนเกล็ด แม้ใช้ 'ข้อตกลงคุณธรรม'" แต่ความโปร่งใสแท้จริงอยู่ที่ไหน
ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งร่วมก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ หรือ สตง. ที่ถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผนดินไหววานนี้ ( 28 มีนาคม) โดยจดทะเบียนเมื่อ 10 ส.ค. 2561 ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งอาคารสำนักงาน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมี นายชวนหลิง จาง และ นายโสภณ มีชัย เป็นกรรมการ
ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จากประเทศจีน ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 49% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติถือ ส่วนผู้ถือหุ้นไทยได้แก่
1.นายโสภณ มีชัย (กรรมการ) ถือหุ้น 40.80% หรือ 407,997 หุ้น
2.นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.20% หรือ 102,000 หุ้น
3.นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบ นายโสภณ และ นายประจวบ ยังถือหุ้นในบริษัทอื่นอีก 5-6 แห่งขณะที่นายมานัสลงทุนในบริษัทอื่นๆอีกกว่า 11 บริษัท
งบก่อสร้าง สตง.พุ่ง 40% ใน 7 ปี แม้ใช้ 'ข้อตกลงคุณธรรม'
โดยโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่อยู่บนพื้นที่ 10 ไร่ ริมถนนกำแพงเพชร 2 เริ่มต้นด้วยงบประมาณ 1,800 ล้านบาท (ปี 2550-2556) แต่เพิ่มเป็น 2,560 ล้านบาท ใน 7 ปี หลังขอเพิ่มงบ 2 ครั้ง เนื่องจากปรับแบบก่อสร้าง-ค่าควบคุมงาน
อย่างไรก็ตามแม้โครงการจะใช้ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ปี 2563 ก็ขอเพิ่มงบครั้งแรก ส่วนปี 2567 ขยายงบควบคุมก่อสร้างจาก 76.8 ล้านบาท เป็น 84.37 ล้านบาท เนื่องจาก โควิด-19 และแบบก่อสร้างเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของผู้รับเหมาหลักคือกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ส่วนควบคุมงานโดย PKW ซึ่ง สตง. ยืนยันว่าจะดำเนินการให้เสร็จตามกำหนด
เหตุแผ่นดินไหวฉุดอาคาร สตง.ถล่ม เปิดประเด็นตรวจสอบผู้รับเหมา
หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางในประเทศพม่า และส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ทำให้อาคาร สตง.ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความมั่นคงของโครงสร้างและบทบาทผู้รับเหมา ITD และพันธมิตร รวมถึง ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จากจีน ที่มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อนว่ามีความโปร่งใส ตรงตามมาตรฐานคุณภาพวัสดุก่อสร้างและความปลอดภัยหรือไม่