นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(27มี.ค.68) ที่ระดับ 34.01 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.93-34.03 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ในวันที่ 2 เมษายน นี้
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ขยายตัว +0.9% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่าจะ หดตัวกว่า -1.1% ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาด อีกทั้งราคาทองคำ (XAUUSD) ก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้บ้าง จากความต้องการถือทองคำ หลังตลาดการเงินเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 54% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง หรือ 75bps ในปีนี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB Christine Lagarde หลังเศรษฐกิจยุโรปเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะรถยนต์ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุว่าเตรียมจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ในวันที่ 2 เมษายน นี้
และในฝั่งเอเชีย ช่วงราว 6.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ของเช้าวันที่ 28 มีนาคม นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็จะทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างยังมีความหวังว่า BOJ จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up โดยล่าสุด เงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น จากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ และความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหากประเมินด้วยปัจจัยเชิงเทคนิคัลและกลยุทธ์ Trend-Following การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ส่งผลให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 104.4-104.5 จุด อย่างชัดเจน ได้สะท้อนว่า ดัชนี DXY อาจกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง หรือ เงินดอลลาร์มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาท อย่าง ราคาทองคำ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้น ซึ่งเรามองว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนความต้องการถือทองคำในระยะสั้นได้ แต่ต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างใกล้ชิด เพราะว่า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ลดลง ก็อาจกดดันราคาทองคำได้พอสมควร โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ในช่วงที่บรรยากาศในตลาดปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ ทว่า ในระยะหลัง นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มปรับมุมมองต่อหุ้นไทยดีขึ้นมาก เช่น ปรับมุมมองเป็น “Overweight” ทำให้เราคาดว่า แรงขายหุ้นไทยอาจไม่ได้สูงมากนัก เหมือนช่วงก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติ อาจใช้จังหวะการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในการทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip ได้
อนึ่ง เราขอเน้นย้ำว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน จะสะท้อนว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following