xs
xsm
sm
md
lg

TKปี68ลุยต่างประเทศ ตั้งเป้าโต 20-40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฐิติกร เปิดพอร์ตเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ล่าสุดยอดเช่าซื้อจากต่างประเทศรวม ใน สปป. ลาว และกัมพูชา มีสัดส่วนมากกว่ายอดเช่าซื้อในประเทศเป็นครั้งแรก หลังบุกเบิกธุรกิจในตลาดต่างประเทศตั้งแต่ 2557 ณ สิ้นปี 2567 เป็นลูกหนี้เช่าซื้อในต่างประเทศ 55% หรือ 945 ล้านบาท ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อต่างประเทศเพิ่มขึ้น 20% ในกัมพูชา และ 40% สปป. ลาว ขณะยังคงระมัดระวังในการขยายธุรกิจ ปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด 





นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ TK ตลอดการดำเนินงานมากว่า 50 ปี คือสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ ด้วยบริการที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว TK เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศที่กัมพูชาและ สปป. ลาว เมื่อปี 2557 ในกัมพูชาดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ Suosdey Finance Plc. (บริษัท ซัวสดัย ไฟแนนซ์) มีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงพนมเปญ โดยมีทุนจดทะเบียน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 85 ล้านบาท และขยายสาขาเพิ่ม จนปัจจุบันมี 12 สาขา ครอบคลุมพื้นที่บริการ 90% ของตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในกัมพูชา

ใน สปป. ลาว TK ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อ Sabaidee Leasing Company Limited (บริษัท สบายดี ลีสซิ่ง จำกัด) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ โดยมีทุนจดทะเบียน 15,250 ล้านกีบ หรือประมาณ 53 ล้านบาท และได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่ม จนปัจจุบันบริษัทฯ มีสาขาให้บริการใน สปป. ลาว จำนวน 6 สาขา ที่ กรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขต จำปาสัก เชียงขวาง และอุดมชัย

ในช่วง 2563 – 2566 ที่ผ่านมา พอร์ตสินเชื่อในกัมพูชาเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยในปี 2566 มีพอร์ตสินเชื่อมูลค่าสูงสุดที่ 1,219.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุม Credit Cost และเร่งตัดหนี้สูญจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2567 ลดลง 31.3% จากปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่า 837.5 ล้านบาท ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อที่ สปป. ลาว ในปี 2562 มีพอร์ตสินเชื่อสูงสุดที่ 265.5 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 บริษัทฯ จำเป็นต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อจากปัญหาค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อใน สปป. ลาว ลดลงเฉลี่ย 15% ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ กลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2567 ที่ สปป. ลาว กลับมาเติบโตเป็น 149.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43.5% เทียบกับปีที่ผ่านมา

“ภาพรวม ณ สิ้นปี 2567 จากพอร์ตเช่าซื้อรวม 1,709 ล้านบาท เรามียอดเช่าซื้อในต่างประเทศมูลค่า 945 ล้านบาท หรือ 55% ของพอร์ตเช่าซื้อรวม ในขณะที่มียอดเช่าซื้อในประเทศมูลค่า 764 ล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตเช่าซื้อรวม นับเป็นปีแรกที่สัดส่วนยอดเช่าซื้อในต่างประเทศที่กัมพูชาและ สปป. ลาว มีมูลค่ามากกว่ายอดเช่าซื้อในประเทศ ซึ่งในปี 2568 นี้ TK มองเห็นโอกาสที่จะเติบโตพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศเพิ่มเติม ควบคู่กับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ตั้งเป้าขยายพอร์ตในกัมพูชา และ สปป. ลาว เพิ่มขึ้น 20% และ 40% ตามลำดับ” นางสาวปฐมากล่าว

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวว่า TK ปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศและแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาจากตลาด คู่แข่งขัน เศรษฐกิจ รายได้ของลูกค้า พฤติกรรมการชำระหนี้ รวมถึงศักยภาพของทีมงาน นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันพันธมิตรทางการค้า อาทิ ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ สามารถรุกตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ต่างประเทศและยังคงศักยภาพในการแข่งขันท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง มาจาก 4 ปัจจัย คือ 1. การตัดสินใจลงทุนที่รวดเร็ว เลือกเข้าไปดำเนินงาน ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศกำลังเติบโต 2. การลงทุนกับบุคลากรล่วงหน้า มีการเตรียมความพร้อม โดยส่งพนักงานเข้าไปศึกษาตลาด เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาก่อนล่วงหน้า 3. การมีเงินทุน โนว์ฮาว เทคโนโลยี และระบบงาน ที่พร้อมดำเนินงานและปรับในต่างประเทศใช้ได้ทันที และ 4. การมีความรู้และความเข้าใจธรรมชาติของตลาด ในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ

“ภาพรวมของตลาดที่กัมพูชา การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่สูงมากนัก แต่ยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ดี เนื่องจากกัมพูชามีตลาดส่งออกที่สำคัญที่อยู่ในข้อตกลง RCEP ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6% ตลาดรถจักรยานยนต์ในปีที่ผ่านมามียอดขาย 349,186 คัน เติบโตจากปีก่อน 11.4% ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่กัมพูชาส่วนใหญ่ยังนิยมสินค้าไทย ยอมรับในบริษัทคนไทย มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น รายได้ลดลงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ลดลงในระยะสั้น 

ด้านภาพรวมของตลาดที่ สปป. ลาว ค่าเงินกีบและเงินเฟ้อเริ่มเห็นสัญญาณทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังสูง คาดว่า ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) จะยังใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงิน ขณะที่ทางการมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 114 ดอลลาร์สหรัฐ/ เดือน จาก 73 ดอลลาร์สหรัฐ /เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะขยายตัว 4.3% ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2567 มียอดขาย 80,027 คัน เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 17.3% พฤติกรรมผู้บริโภคที่ สปป. ลาว ส่วนใหญ่ยังนิยมสินค้าไทย ยอมรับในบริษัทคนไทย เช่นเดียวกับที่กัมพูชา นิยมซื้อสินค้าเงินสด แต่หากมีหนี้สินแล้ว มีวินัยในการชำระเงินดีมาก” นายประพล อธิบาย


กำลังโหลดความคิดเห็น