สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เผยรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2567 รวมกว่า 99.25 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 4.75 หรือ 4.50 ล้านรายและจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 1.40 หรือ 0.22 ล้านล้านบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองเงินฝากภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (2566–2570) ผ่านแนวคิด READY & Prompt และเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และเดินหน้าพัฒนาระบบงานที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนในระยะยาว
นายมหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า จากรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองปี 2567 นั้น เราแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่มีเงินฝากต่ำกว่า 10 ล้านบาทนั้น พบว่าเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึงร้อยละ 4.84 โดยปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในผู้ฝากกลุ่มนี้มีผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐ เงินฝากในเดือนกันยายน 2567 พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 6.83 สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเดือนเดียวกัน ที่ร้อยละ 2.50
และกลุ่มผู้มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาท เป็นผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.70 ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2566
ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568 นี้คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1 – 3 หรือคิดเป็น 16.65 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ
นอกจากนี้ หากมองถึงค่ากลางจำนวนเงินฝากที่ฝากเงินส่วนใหญ่ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3,164 บาท ลดลง 10.44%จากปี 2565 ที่ 3,533 บาท และค่าเฉลี่ยของเงินฝากต่อบัญชี ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 198,620 บาท ลดลง 2.49%จากปี 2565 ที่ 203,698 บาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินฝากนั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย ไม่จำเป็นที่เศรษฐกิจไม่ดีแล้วเงินฝากจะต้องลดเสมอไป บางครั้งอาจจะเกิดจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด หรือการโยกเงินลงทุนก็เป็นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆประกอบกันต่อไป
สำหรับผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินอยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 98.20 ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก รวมถึงหากพิจารณาถึงระดับรายได้ประชาชาติต่อประชากรที่ 4-5 เท่าแล้ว ณ เกณฑ์ความคุ้มครองที่ระดับ 1 ล้านบาทต่อ1รายต่อสถาบันการเงินจึงนับว่ายังเหมาะสมอยู่ โดยปัจจุบัน DPA มีจำนวนสถาบันการเงินที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากอยู่จำนวน 32 แห่ง
**ยันเงินกองทุนพร้อมรับVirtual Bank**
นายมหัทธนะกล่าวอีกว่า ในส่วนของ DPA เอง ปีนี้ถือว่ายังเป็นปีที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเศรษฐกิจไทย กฎหมายใหม่ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาเรื่อยๆรวมถึงการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา(Virtual Bank)ที่จะมีการประกาศผลผู้ได้รับอนุญาตในกลางปีนี้ ดังนั้น เพื่อให้ DPA มีความพร้อมในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้แนวคิด "READY & Prompt" โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพองค์กร ทั้งในด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง และการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดย DPA ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการสำหรับผู้ฝากที่ผูกบัญชี Prompt Pay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ขณะเดียวกัน ก็มีความพร้อมและมีเงินกองทุนเพียงพอในการค้ำประกันเงินฝากสำหรับ Virtual Bank ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์
นอกจากแนวทางการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว DPA ยังมีการซักซ้อม (Simulation) ด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชี บนพื้นฐานข้อมูลเสมือนจริงของสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประจำทุกปี รวมถึงการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายรายได้ปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 2.20 ปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 146,466.49 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) การดำเนินงานเตรียมความพร้อมในทุกด้านของ DPA สะท้อนจุดยืนและเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อให้สามารถมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างแท้จริง