วานนี้ (20 มี.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มี.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งงานดังกลาวจัดขึ้นโดยสามสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย
นายพิชัย กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเครื่องจักรใหญ่และสำคัญของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนสูงและยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายภาคส่วน ดังนั้นงานมหกรรมบ้านจึงเป็นมากกว่าการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นตลาดให้ฟื้นตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่ยังชะลอการตัดสินใจซื้อกลับมาตัดสินใจซื้อบ้าน ซึ่งมหกรรมบ้านบ้านและคอนโดเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
โดยในการจัดงานครั้งที่ผ่านมาพบว่ามียอดจองซื้อที่อยู่อาศัยในงานกว่า 6,000 ล้านบาท แต่ต้องประสบปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อสูงทำโดยมียอดปฏิเสธสินเชื่อกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมียอดการอนุมัติสินเชื่อและมีการซื้อขายที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นจริงเพียง 4,000 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ด้วยทิศทางตลาดอสังหาฯ ที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะทำให้แนวโน้มการปฏิเสธสินเชื่อลดลง
ขณะเดียวกัน สามสมาคมอสังหาฯ ยังได้เสนอ 4 มาตรการกระตุ้นตลาดต่อรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้นคือ ต่ออายุมาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้เหลือเพียง 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ผ่อนคลายมาตรการ LTV (Loan-to-Value) ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธอส. วงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถมีบ้านได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 50% ในปี 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย
นายพิชัย กล่าวถึงการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ว่า ได้หารือถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ ขณะเดียวกันยังหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมให้ผ่อนคลาย โดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีการออกโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" และหลังจากนี้จะต้องมีมาตรการขั้นต่อไป หลังจากเจรจา มีคนเข้าสู่กระบวนการ 50% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน ขั้นต่อไปคือ การปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับโครงการซื้อหนี้ประชาชน ปัจจุบันพบว่า มีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้านบาท ที่ไม่รวมหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ คิดเป็น 9 ล้านบัญชี ลูกหนี้ประมาณ 5 ล้านคน พบว่า เป็นกลุ่มที่มีหนี้ต่ำกว่า 100,000 บาท คิดเป็น 35% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีอยู่ 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคและบัตรเครดิต ซึ่งสถาบันการเงินได้ตั้งสำรอง 100% แล้ว
ขณะนี้กำลังพิจารณาหาแนวทางดึงหนี้ส่วนนี้ออกมาบริหารจัดการ เจ้าหนี้ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ เพราะหนี้ตรงนี้มีการชำระต่ำ และต้นทุนแทบไม่มีแล้ว นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางปลดล็อกจากเครดิตบูโร คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายใน 3-6 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ธปท. ได้มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.68-30 มิ.ย.69 โดยสาระสำคัญของการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV มีดังนี้ 1.กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็น 100% สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งกรณี 2.มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป 3.มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป
นายดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต รองเลขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 กล่าวว่า นอกจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐแล้ว ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมสถาบันการเงินชั้นนำได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่ชะลอการตัดสินใจจากปีก่อนและผู้ที่กำลังรอโอน
“การที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีในการฟื้นตลาดอสังหาฯ ประกอบกับการลดดอกเบี้ยที่เพิ่งเกิดขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้กำลังซื้อกลับมา ผู้บริโภคจะได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด ทั้งจากผู้พัฒนาโครงการและจากสถาบันการเงิน ทำให้คาดว่าในงานครั้งนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดตามเป้าที่ตั้งไว้ 4,000 ล้านบาท”