xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน กนง.แจงหั่นดอกเบี้ยเพื่อลดการเงินตึงตัว ยัน policy space เพียงพอรับความเสี่ยงอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.68 ซึ่งคณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.25% เป็น 2.00% โดยให้มีผลทันที เนื่องจากมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเหมาะสมในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.5% นั้น ยังต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้า เนื่องจากภาคการผลิตที่ยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่บังคับใช้แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนขยายตัวแตกต่างกันมากขึ้น (K-shape) โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์มีพัฒนาการแย่ลง

"คณะกรรมการเห็นร่วมกันว่า เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลง มีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายปรับโครงสร้างด้านอุปทาน เพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน และการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วยในการปรับตัว" รายงาน กนง.ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ มีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนโดยครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้สูง แต่ในระยะต่อไปครัวเรือนกลุ่มนี้อาจระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัจจัยด้านความมั่งคั่งที่ลดลงตามมูลค่าของตลาดหุ้นไทย ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำ ยังถูกกดดันจากรายได้ที่ไม่ทั่วถึง และภาวะสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอตัวลง

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในมิติของรูปแบบ และช่วงเวลา รวมทั้งการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นด้วย

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น คณะกรรมการเห็นว่า การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย (1-3%) ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และไม่ได้ส่งสัญญาณภาวะเงินฝืด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวได้ช้า หลังจากที่เงินเฟ้อได้เร่งขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า

ด้านภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินนั้น คณะกรรมการแสดงความกังวลในประเด็นสินเชื่อที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน จึงเห็นควรให้ติดตามการขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด โดยกรรมการส่วนหนึ่ง แสดงความกังวลต่อการด้อยลงองคุณภาพสินเชื่อกลุ่มรายได้ต่ำ ที่อาจเริ่มลุกลามมายังกลุ่มรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ปรับแย่ลง อาจส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ

ขณะที่ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยค่าเงินบาทปรับแข็งขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยเฉพาะของไทย ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในบางจังหวะ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลก ที่อาจส่งผลต่อตลาดการเงินไทย และความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด


การพิจารณานโยบายการเงิน

* คณะกรรมการประเมินว่าสมดุลของความเสี่ยง (Balance of risks) ของนโยบายการเงินโน้มไปด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

* กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เป็นการเริ่มต้นวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (easing cycle) อีกทั้งเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดทอนความตึงตัวของภาวะการเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% เป็นระดับที่นโยบายการเงินยังมีขีดความสามารถเพียงพอ (Policy space) ในการรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

"คณะกรรมการจึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ส่วนอีก 1 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย" รายงาน กนง.ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น