สภาทองคำโลก เผยราคาทองคำล่าสุดทะยานขึ้นทะลุ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในระหว่างวัน แม้ราคาทองคำอาจเข้าสู่ช่วงพักตัวหลังจากการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยสนับสนุนยังคงแข็งแกร่ง ทั้งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง และค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่า ล้วนเป็นแรงหนุนสำคัญต่อความต้องการลงทุนในทองคำ
นายจอห์น รีด นักกลยุทธ์การตลาดอาวุโส ประจำยุโรปและเอเชีย สภาทองคำโลก (World Gold Council) กล่าวว่า ราคาทองคำได้ทะลุ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในการซื้อขายระหว่างวันช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม และเกิดขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม แม้ว่าราคาทองคำจากสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอนที่ทำการซื้อขายช่วงบ่าย (LBMA Gold Price PM) จะยังไม่ได้ทะลุระดับนี้อย่างเป็นทางการ โดยปิดที่ 2,996.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในวันจันทร์ แต่เหตุการณ์นี้ได้ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนและสื่อมวลชนทั่วโลก นำมาซึ่งคำถามมากมายถึงนัยสำคัญของปรากฏการณ์ครั้งนี้
“การที่ราคาทองคำทะลุ 3,000 เหรียญสหรัฐนั้น สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดผันผวน จากราคา 1,000 เหรียญสหรัฐในช่วงวิกฤตการเงิน สู่ 2,000 เหรียญสหรัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทองคำได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะที่ตลาดมีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจเทียบเคียงได้กับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2514”
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2565 ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และค่าเงินเหรียญสหรัฐเหมือนในอดีต เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณการซื้อทองคำเป็นสองเท่า ประกอบกับความต้องการลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น
ธนาคารกลางทั่วโลกเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่อย่างต่อเนื่องมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมียอดซื้อมากกว่า 1,000 ตันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2565 และล่าสุดในปี 2567 มียอดซื้อถึง 1,045 ตัน เราเชื่อว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเพิ่มปริมาณขึ้นนี้ ทั้งในแง่ของการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการแบ่งขั้วทางอำนาจ การซื้อทองคำของธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความต้องการในตลาด และส่งผลต่อทิศทางของราคาทองคำในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน นักลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เริ่มมีอิทธิพลต่อตลาดทองคำมากขึ้น นอกจากแนวโน้มดังกล่าว การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมายังได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจทองคำในฐานะเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่สำคัญ
นายจอห์น กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองในขณะนี้คือ ราคาทองคำจะสามารถรักษาระดับเหนือ 3,000 เหรียญสหรัฐได้หรือไม่ แม้ว่าสถานการณ์ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นในตลาดทองคำ แต่การที่ราคาจะรักษาระดับนี้ได้ จำเป็นต้องเห็นแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนในประเทศตะวันตก หรือไม่เช่นนั้นต้องมีการเพิ่มปริมาณการซื้อครั้งใหญ่จากกลุ่มธนาคารกลาง”