xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้เอเชียมีลุ้นขึ้นชั้นฮับคริปโตโลก กรอบกฎหมายชัดเจน-ฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ด้วยความโดดเด่นด้านกฎระเบียบเชิงรุกและตลาดที่มีพลวัต เอเชียอาจพาตัวเองสู่ตำแหน่งฮับคริปโตโลกในอนาคต
หลายประเทศในเอเชีย อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย มีความคืบหน้าอย่างมากในการสร้างกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมคริปโต และด้วยฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ ภูมิภาคนี้กำลังผงาดขึ้นเป็นฮับอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลระดับโลกที่มีอนาคตสดใสในปี 2025

บีอินคริปโตรายงานว่า หลายประเทศที่รวมถึงมาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม กำลังทบทวนการเปลี่ยนแปลงและออกนโยบายเกี่ยวกับคริปโต โดยฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นผู้นำในการสร้างกรอบกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดการลงทุนและนวัตกรรม ขณะที่เวียดนามกำลังเร่งรัดการกำหนดกรอบกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนนี้

Monetary Authority of Singapore (MAS) หรือธนาคารกลางสิงคโปร์ ออกใบอนุญาตสถาบันการชำระเงินหลัก (Major Payment Institution หรือ MPI) ที่เกี่ยวข้องกับโทเคนการชำระเงินแก่บริษัท 30 แห่ง

กรอบโครงกฎระเบียบของสิงคโปร์รักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งช่วยรับประกันระบบนิเวศคริปโตที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ

ทางด้านฮ่องกงเพิ่งออก “ใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์เสมือน” ให้บริษัทแห่งที่ 10 เมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากเร่งอนุมัติ 4 แห่งรวดช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นเมื่อกลางปี 2023 ฮ่องกงได้แก้ไขกรอบโครงกฎหมายสำหรับการซื้อขายคริปโต โดยกำหนดให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (เอสเอฟซี) รับผิดชอบการตรวจสอบและให้ใบอนุญาต

เวียดนาม อีกหนึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย เรียกร้องให้กระทรวงการคลังจัดทำโครงการนำร่องในการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์เสมือนและสินทรัพย์ที่แปลงเป็นโทเคนดิจิทัลให้แล้วเสร็จก่อนวันพฤหัสฯ (13 มี.ค.)

ในส่วนไทยนั้นเพิ่งมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์บัญชีรายชื่อคริปโตเพื่อรองรับให้ Issuer สามารถรับคริปโตเป็นการตอบแทน ICO Portal รับคริปโตจากผู้ลงทุนหรือ Issuer ในการทำธุรกรรม และผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับคริปโตเพิ่มเติมอีก 2 สกุล ได้แก่ เหรียญ USDT และ USDC มีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์ (16 มี.ค.)

ทั้งนี้ จากข้อมูลของอิเล็กทริก แคปิตอล เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์คริปโตมากที่สุด ขณะที่อเมริกาเหนือตกจากอันดับ 1 ไปอยู่ที่ 3 ทว่า อเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์คริปโตมากที่สุดคือ 19% ลดลงจาก 38% ในปี 2015

นอกจากนั้นข้อมูลจากทริปเปิล-เอยังแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศในเอเชียกำลังเป็นผู้นำในอัตราการถือครองคริปโต นำโดยสิงคโปร์ ตามด้วยไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้สิงคโปร์และฮ่องกงมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่บางประเทศยังขาดกรอบกฎหมายที่เป็นเอกภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในแง่การร่วมมือภายในภูมิภาค รวมทั้งการป้องกันกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน

ในทางกลับกัน กรอบกฎหมายที่ชัดเจนจะช่วยดึงดูดบริษัททั่วโลกมายังเอเชีย เห็นได้จากกรณีเอลซัลวาดอร์ โดยขณะนี้เทเธอร์ ผู้นำตลาดสเตเบิลคอยน์ ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังประเทศในอเมริกากลางแห่งนี้เพื่อใช้ประโยชน์จากกรอบกฎหมายที่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัล

กรอบกฎหมายที่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ยังอาจเป็นอุปสรรคสำหรับโครงการขนาดเล็กหรือโครงการที่ไม่โปร่งใส ตัวอย่างเช่น Pi Network (PI) ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์สกุลเงินดิจิทัลที่อ้างว่า อนุญาตให้ผู้ใช้ขุดเหรียญ Pi ได้โดยตรงจากสมาร์ทโฟน ทว่า เบน โจว ซีอีโอ Bybit วิจารณ์ว่า โปรเจ็กต์นี้อันตรายกว่าเหรียญมีม และน่าสงสัยเรื่องความโปร่งใส

รายงานทิ้งท้ายว่า ด้วยความคืบหน้าด้านกฎระเบียบเชิงรุกและตลาดที่มีพลวัต วันหนึ่งข้างหน้าเอเชียอาจแซงอเมริกาและยุโรปขึ้นเป็นฮับคริปโตของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น