น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานเผยแพร่ยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการลงทุน หัวข้อ "Ignite Thailand : Invest in Endless Opportunities โอกาสการลงทุนไร้ขีดจำกัดในประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และแสดงให้นักลงทุนได้เห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นจุดหมายของนักลงทุนของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะสร้างเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและในระยะยาว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันนี้ การลงทุนและเศรษฐกิจของทั่วโลกเป็นสิ่งท้าทาย โดยเฉพาะการหาช่องทางให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้ง่ายเหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโต แม้จะต้องการให้เติบโตแบบก้าวกระโดดก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมา การลงทุนหลายอย่างช้าไป ดังนั้นจึงต้องดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา เพื่อสร้างโอกาส เปลี่ยนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างบูรณาการ และสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน
นายกฯ ย้ำรัฐบาลเร่งวางรากฐานประเทศทุกมิติ รองรับการลงทุน ตปท.ช่วยเคลื่อนศก.ไทย
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันนี้ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เป็นประเทศแห่งโอกาส มีความพร้อมของประเทศ และบุคลากรที่จะพัฒนารองรับโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนในระยะยาว และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญรองรับการลงทุน
ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการผลักดันรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ที่มีการเพิ่มเส้นทางตั้งแต่ภาคใต้เข้าสู่ส่วนกลาง มีการอนุมัติลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ จากชั้นนอกเข้าสู่ชั้นใน ขณะที่รถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ภาคอีสาน ระยะที่ 2 ได้ดำเนินการแล้ว จะเป็นการเชื่อมระดับภูมิภาคเข้าด้วยกัน
พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 มีมูลค่าการลงทุน 1.5 แสนล้านบาท และการขยายท่าอากาศยานเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค โดยรัฐบาลหวังว่าจะช่วยเพิ่มการขนส่งให้เกิดความเข้มแข็ง และตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ยังได้รับความสนใจจากประเทศจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาค เชื่อว่าหากโครงการนี้สำเร็จ ไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทันทีในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และจะทำให้เกิดการจราจรที่คล่องตัว เกิดการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ประเทศไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยจะมีการวางแผนในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอีก และไม่อยากเสียงบประมาณไปกับการเยียวยาในจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงวางแผนสร้างกำแพงกั้นน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงในภาคอื่นๆ พร้อมเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และธุรกิจในอนาคต ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ นโยบาย Cloud First เพื่อดึงดูดการลงทุนในระยะยาว ทำให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านนี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไม่ได้ละเลยในการพัฒนาศักยภาพบุคคล ซึ่งมีนโยบาย "หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน" ODOS พัฒนาศักยภาพบุคคลเฉพาะทาง และย้ำว่าจะมีการผลิตบุคลากรเพิ่มกว่า 8 หมื่นคน อีกทั้งจะดึงดูดบุคลากรจากทั่วโลก เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงาน ซึ่งรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ควบคู่กันไป ทั้งการเตรียมความพร้อมของบุคลากร และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น โดยจะขับเคลื่อน One Stop Service ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญภาคการผลิต โดยเฉพาะการเกษตร อาหาร บริการท่องเที่ยว และการแพทย์ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพราะมีการบริการที่ซ่อนอยู่ในตัวคนไทย คือ ซอฟต์เพาเวอร์ ที่รัฐบาลนี้เตรียมพร้อมยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยจะนำเทคโนโลยี และภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้านมาผสมผสานกัน เพื่อเพิ่มผลผลิต นำไปสู่ครัวไทยสู่ครัวโลก และจะดูแลภาคการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ส่วนด้านการท่องเที่ยว พบว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดี หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันการท่องเที่ยวในรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยให้สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูและตลอดทั้งปี
โดยในช่วงท้ายนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่สามารถผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนได้สูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำลายสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี พร้อมเน้นย้ำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืนและมั่นคงต่อไปได้