xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 33.74 ติดตามรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 มี.ค.) ที่ระดับ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.90 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.70-33.83 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด และแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ กับแคนาดา

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทถูกชะลอลงบ้างหลังเงินดอลลาร์ยังพอมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาราว 7.74 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์แคนาดา (CAD) จากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดา

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.9% (+0.3%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.2% (+0.3%m/m) เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เฟดยังคงระมัดระวังต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และจะยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ อนึ่ง บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า (Fully Priced-In)

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังคงสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงิน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีกราว 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ จบการลดดอกเบี้ยแถวระดับ 2.00%

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวันก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง ทว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวนด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways นอกจากนี้ เราประเมินว่าบรรดาผู้นำเข้าอาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์อยู่ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท อีกทั้งบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยได้บ้าง จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้เงินบาทอาจพอมีโซนแนวรับแถว 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทอาจยังคงอยู่แถว 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน เรามองว่าเงินบาทอาจกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following

เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงแกว่งตัวในกรอบ +0.27%/-0.45% ได้ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด จนอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้เกิน 3 ครั้ง ในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น