นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.00% ต่อปี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ดังนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการของรัฐ ที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ขานรับนโยบายรัฐบาล ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ได้แก่ ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลด 0.25% จาก 7.80 ลดลงเหลือ 7.55% ต่อปี สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลด 0.15% จาก 7.80% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.65% ต่อปี และประเภทเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ลด 0.10% จาก 7.40% ต่อปี เหลือ 7.30% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะเดียวกัน ยังจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฝาก กลุ่มหน่วยงาน องค์กร กลุ่มนิติบุคคล สถาบัน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีทางเลือกในการหาแหล่งฝากเงินผลตอบแทนสูง ที่มีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุด
นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว ธนาคารยังจัดเตรียมสินเชื่อ Soft Loan ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เพียง 3% ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ผ่าน 3 โครงการสินเชื่อที่จะช่วยลดภาระ เพิ่มสภาพคล่อง และเพิ่มศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง ได้แก่ 1.สินเชื่อ “SME Green Productivity” สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการติดตั้งระบบอุปกรณ์ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด และมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท 2.สินเชื่อ "ปลุกพลัง SME" สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท นำไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึง หมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อ "Beyond ติดปีก SME" สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ควบคู่บริการด้านการพัฒนาผ่านแพลตฟอร์ม “DX by SME D Bank” (dx.smebank.co.th)
ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.15% ต่อปี คงเหลือ 5.90% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อเนื่อง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวช่วยเหลือ SMEs ลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ของ บสย. ที่มีเงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 100,000 ราย โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และสามารถปลดหนี้ ลดต้นสูงถึง 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดเท่าที่ บสย. เคยทำมา เพื่อช่วย SMEs รายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ ให้สามารถปลดหนี้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ช่วยต่อลมหายใจและสามารถเดินหน้ากิจการต่อได้อย่างยั่งยืน