xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.-ธ.ก.ส.-EXIM BANK ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.00% ต่อปี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ธอส. จึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลง 0.10% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.250% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลง 0.25% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.40% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม-31 สิงหาคม 2568 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ที่ 6.545% ต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมา ธอส. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐอื่น

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลง 0.15% ต่อปี จาก 6.875% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.725% ต่อปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้เกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.25% ต่อปี จาก 6.875% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.625 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.10% ต่อปี เหลือ 6.25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์ นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับตัวรับมือปัจจัยท้าทายและแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น