xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกสิกรฯ คาดแบงก์ลดอกเบี้ยกู้ลดภาระลูกหนี้ 7.3-7.5 พันล้าน ผลต่อสินเชื่อใหม่ยังจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแบงก์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้พอร์ตปัจจุบัน คาดส่งต่อเห็นผลช่วงกลางปี สินเชื่อรายย่อย-ธุรกิจรับอานิสงส์มากสุด ประเมินช่วยลดภาระดอกเบี้ย 7.3-7.5 พันล้านบาท หรือราว 1.0-1.2% ของรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่ผลต่อสินเชื่อใหม่ยังคงอยู่ในกรอบจำกัด จากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-ความสามารถในการชำระหนี้

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและตลาดพันธบัตรต่างปรับตัวลดลงตามในทันที ตามกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นระยะ (Tenor) ไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลงประมาณ 0.24-0.25% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุ 1 เดือน-1 ปี ลดลง 0.08-0.10% (ข้อมูล ณ 3 มี.ค.2568)

อย่างไรก็ตาม จุดสนใจหลังผลการประชุม กนง. รอบนี้คือ การประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มขึ้นภายใน 1 วันตามหลัง กนง. และเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียว โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในกลุ่ม D-SIBs ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลงในกรอบประมาณ 0.10-0.25% ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2568 ขณะที่ ในเบื้องต้น (ณ 4 มี.ค.2568 ) ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน และ 24 เดือนสำหรับบัญชีเงินฝากของบุคคลธรรมดา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะมีผลต่อสัญญาเงินกู้ของสินเชื่อปล่อยใหม่ แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้พอร์ตปัจจุบันก็ต่อเมื่อหนี้ก้อนนั้นเข้าสู่ช่วงปรับดอกเบี้ยที่เป็นตัวอ้างอิง โดยประเมินว่า สินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในช่วงกลางปีนี้ จะมีสัดส่วนประมาณ 56.4% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ส่วนผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวอีกครั้งในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจปรับลดลงประมาณ 7,300-7,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 1.0-1.2% ของประมาณการรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2568 (ภายใต้สมมติฐานที่เริ่มคำนวณผลของภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงในช่วงระหว่างเดือนมี.ค.-ธ.ค.2568)

อย่างไรก็ดี คาดว่าแรงหนุนต่อภาพรวมสินเชื่อน่าจะอยู่ในกรอบจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขประมาณอัตราการขยายตัวการสินเชื่อระบบแบงก์ไทยปี 2568 ไว้ที่ 0.6% ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่หดตัวลง 0.4% ในปี 2567 เพราะคงต้องยอมรับว่า แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อแนวโน้มสินเชื่อ แต่คงต้องรอแรงหนุนจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไปด้วยโดยเฉพาะแนวโน้มและจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ และการประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการกู้และชำระคืนของผู้กู้ ดังนั้น 2 เรื่องสำคัญที่เป็นปัจจัยติดตามในช่วงที่เหลือของปี คือ 1) อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะลดลงอีกหรือไม่ และ 2) โมเมนตัมของสินเชื่อและสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น