xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ-K WEALTH เกาะติด 3 นโยบายทรัมป์ ชี้ราคาสินทรัพย์ยังผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดอะวิสดอมกสิกรไทย ร่วมกับ K WEALTH เดินสายจัดเสวนารูปแบบพิเศษ ในหัวข้อ Investment Strategies for 2025: Thriving in the Trump-Inspired Global Economy พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้คำแนะนำวางกลยุทธ์การลงทุนแบบเอ็กซ์คลูซีฟ จับตาทรัมป์เร่งเครื่อง 3 นโยบายหลัก ได้แก่ “ผลักดันผู้อพยพ ขึ้นภาษีศุลกากร สนับสนุนการขุดเจาะและผลิตน้ำมัน” แนะจัดสัดส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่ใน CORE Portfolio ที่กระจายการลงทุนทั่วโลก (Global Balanced Fund) และเพิ่มโอกาสลงทุนใน SATELLITE ผ่านกองทุนตราสารหนี้เอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกองทุนหุ้นสหรัฐฯ

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 
เปิดเผยว่า ปี 2568 มาพร้อมกับความท้าทายใหม่จากนโยบายของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กลับมาตอกย้ำและสานต่อแนวทาง “America First” ผ่านมาตรการกีดกันการค้าและนโยบายการต่างประเทศที่เข้มงวด พร้อมๆ กับการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลดภาษีและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ ในขณะที่จีนยังเผชิญกับความพยายามในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและครัวเรือนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2568 การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่นโยบายหลักของสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบชัดเจน

**เกาะติด “ทรัมป์” เร่งเครื่อง ดัน 3 นโยบายหลัก**
น.ส.ศิริพร สุวรรณการ CFA, CFP® Chief Investment Officer (CIO) ของ K WEALTH ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวต่อเนื่องได้ราว 2.4% จากการบริโภคที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ดี แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงจะเปิดทางให้ FED ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% สู่ระดับ 3.75-4.00% ทั้งนี้ การผลักดันนโยบาย “American First” อย่างเข้มข้นของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นความรุ่งเรืองในประเทศจะสร้างแรงกดดันให้ประเทศคู่ค้า และเป็นที่หวั่นวิตกทั่วโลกว่า อาจเป็นชนวนไปสู่สงครามการค้าระลอกใหม่ โดย 3 นโยบายหลักที่ทรัมป์เร่งดำเนินการ ได้แก่ นโยบายผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศ นโยบายภาษีศุลกากร “America First Trade Policy” และนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม “Drill Baby, Drill”

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และแรงกดดันในภาคส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ คาดเศรษฐกิจจีนเติบโตได้เพียง 4.3% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก และแม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่อาจพยุงเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้นจนกว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา

สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.4% จากแรงส่งในภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงและแรงกดดันในภาคส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% สู่ระดับ 1.75% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะได้แรงหนุนการบริโภคในระยะสั้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Easy E-receipt และโครงการเติมเงินผ่าน Digital Wallet

**K WEALTH แนะกองทุนรวมตราสารหนี้เอกชน และกองทุนรวมตราสารทุนในหุ้นสหรัฐฯ**
ด้าน K WEALTH มองปี 2568 เป็นปีที่ดีต่อการลงทุน โดยมีแรงสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำ 2) ฐานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในเกณฑ์ดี 3) อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางเงินเฟ้อ 4) เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ และจีน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 5) เงินลงทุนจะโยกย้ายออกจากตราสารการเงินระยะสั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง เพื่อแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจ

กองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ (Fixed Income Fund) เน้นตลาดหุ้นกู้บริษัทเอกชนเพราะผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งเศรษฐกิจที่ดีจะลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้

กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) เน้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งรวมทั้งกำลังสนับสนุนจากนโยบาย American First สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ การเงิน และการบริโภค

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทั่วโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567 ทำให้มีโอกาสเกิดแรงขายเป็นระยะ หากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่าคาด พร้อมกันนี้ ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะสร้างความผันผวนให้ราคาสินทรัพย์ตลอดทั้งปี ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของนักลงทุนจึงยังเป็นปัจจัยที่ห้ามมองข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น