เมื่อหุ้นไทยกลับมาอยู่ในโซนช่วงโควิด -19 แผนผุดกองทุนThai ESG อาจไม่โดนใจนักลงทุน จนเริ่มมีเสียงเรียกร้องสิทธิประโยชน์ทดแทนส่วนขาดทุน ขณะภาพรวมหุ้นยั่งยืนหลายตัวยังน่าสนใจจากราคาที่ต่ำ ปันผลสูง จี้ภาครัฐโครงสร้างเศรษฐกิจ หวั่นGDPมีแต่ถดถอย พร้อมหาทางเพิ่มวอลุ่ม และมาลุ้น “Jump+”จะเพิ่มศักยภาพบริษัทจดทะเบียนได้แค่ไหน?
ตลาดหุ้นไทย (21 ก.พ.68) ปิดที่ระดับ 1,246.21 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 0.60 จุดมูลค่าการซื้อขาย 4.85 หมื่นล้านบาท ภาพรวมย้อนหลัง 3 เดือนดัชนีติดลบ 13.49% ขณณะที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year To Date) ดัชนีปรับตัวลดลงไปแล้ว 11.00% ทำให้เริ่มมีการพูดถึงว่า ดัชนีหลักทรัพย์ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้ เหมือนย้อนเวลากลับเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดจนสร้างความกังวลให้กับตลาดทุนทั่วโลก
แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย ณ เวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความคาดหวังของนัลงทุน โดยเฉพาะกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่มีนโยบายและเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง หลังจากมีการตั้งเป้าหมายว่าปี 2568 จีดีพีของประเทศจะกลับมาโตที่ระดับ 3% ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่จนแล้วจนรอดใกล้จะผ่านพ้นเดือนที่สองของปี แต่ทำไมทิศทางตลาดหุ้นดูเหมือนจะสิ้นหวัง จนเกิดคำถามว่า “ถึงเวลาถอยห่างจากหุ้นไทยหรือไม่?”
แรงขาย LTF กดดัน
เมื่อเร็วๆนี้ มีการเปรียบเทียบผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกทั้งหมด 92 ดัชนีปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าตลาดหุ้นไทยหรือ set index ปรับตัวลงมาแรงสุดในโลก โดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.ป เอเชียพลัส ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ Set index ลงมาแรงและเร็วส่วนนึงคือแรงเทขายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดนั้นเร่งตัวออกมา
ผลกระทบจากการเทขายหุ้นของกองทุน LTF สะท้อนได้จากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนที่พบว่ายอดเทขายกองทุน LTF เดือนมกราคมลดลงสุทธิ 3.0 หมื่นล้านบาท หรือลดลงประมาณ 14.5% ของวงเงินคงค้าง ทำให้เหลือวงเงินคงค้างที่อยู่ในกองทุนประมาณ 1.8 แสนล้านบาท จากประมาณ 2 แสนล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นการทำสถิติลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะว่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาการลดลงของกองทุน LTF เดือนมกราคมจะอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาทเท่านั้น
ฉะนั้นเมื่อแรงเทขายจากกองทุน LTF พร้อมกับมูลค่าซื้อขายที่เบาบางคือเฉลี่ย 4 – 4.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน เลยกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้ set index ลดลงมาแรง
ประเด็นดังกล่าว บล.เอเซียพลัส มองว่า แม้ว่าแรงขายข้างต้นจะกดดันตลาดหุ้น แต่กลับพบว่านักลงทุนต่างชาติมีแรงซื้อกลับมา แม้ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 7.76 พันล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสะสม 1.64 หมื่นล้านบาท แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ล่าสุด นักลงทุนต่างประเทศซื้อสะสม 3.56 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไป 5.45 พันล้านบาท โดยหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาสะสมมากในช่วงนี้ อาทิ KTB CPALL TTB CBG TRUE เป็นต้น
Thai ESG ตอบโจทย์จริงหรือ
อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าประเด็นข้างต้น ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยแล้ว ด้วยเพราะนักลงทุนรับทราบข่าวดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น ทำให้หลายรายเลือกที่จะชะลอลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์
ขณะเดียวกันเรื่องสถานการณ์ดังกล่าว ก็ไม่ได้หนีพ้นสายตาภาครัฐ จนนำไปสู่แผนการจัดตั้งกองทุน Thai ESG ใหม่ขึ้นมาในเร็วๆนี้ เพื่อหวังจะเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่ยังขาดทุนจากหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF) และยังถือหน่วยลงทุนอยู่โยกเงินดังกล่าวมาสู่กองทุน Thai ESG ใหม่เพื่อรอกำไรจากการฟื้นตัวของหุ้นไทย และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเช่นที่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวม LTF
โดยกองทุนThai ESG ใหม่มีเป้าหมายชัดเจนว่า จะเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นการลงทุนระยะยาวในกิจการที่เน้นความยังยืน และมีระยะเวลาเท่ากองทุนรวม LTF ในอดีต งานนี้ภาครัฐหวัง win-win ทั้งสองฝ่ายคือนักลงทุนได้กำไรฟื้นคืนและสิทธิประโยชน์ ขณะที่ตลาดหุ้นได้หายใจหายคอโล่งขึ้นเมื่อเงินอีก 1.8 แสนล้านบาทไม่ได้ทะลักออกจากตลาดจนกดดันดัชนี และไม่ไหลออกไปสู่กองทุนThai ESG ประเภทตราสารหนี้เหมือนก่อนหน้านี้
แต่ไม่รู้ว่าภาครัฐได้ลองถามความเห็นหรือความต้องการของผุ้ลงทุนบ้างหรือไม่? เมื่อปัจจุบันนักลงทุนหลายคนกลับมองว่าการเน้นลงทุนในหุ้นที่กิจการเติบโตยังยืนอาจไม่ตอบโจทย์ได้ และที่ผ่านมาหุ้นที่เคยอยู่ในหมวดนี้บางตัวก็เคยสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน ถึงกับบ่นว่า กว่าจะจะจัดตั้งกองทุนใหม่แล้วเสร็จบางทีอาจไม่ทันเพราะขาดทุนมากยิ่งขึ้นไปแล้ว หรือการโยกย้ายกองทุนแล้วราคาหน่วยลงทุนที่ลดลงไปใครจะรับผิดชอบ รวมไปถึงแนวคิดที่อยากให้โยกเงินไปรวมในกองทุนวายุภักษ์ ที่การันตีผลตอบแทนมากกว่า
ไม่เพียงเท่านี้ เสียงสะท้อนจากนักลงทุนที่มีต่อหุ้นไทยในปัจจุบันต่างให้น้ำหนักไปที่ประเด็นพื้นฐานตลาดหุ้นไทยนั้นหมดความน่าสนใจไปแล้ว รวมถึงการตัดสินใจผิดที่เลือกทุนกับกองทุน LTF เพียงเพื่อหวังภาษี แต่สุดท้ายขาดทุนหนักกว่าภาษีที่ได้รับการลดหย่อน ทำให้เข็ดขยาด และขอเลือกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นอย่างทองคำ หรือการลงทุนผ่านประกันสะสมทรัพย์มากกว่า แต่หากจะให้ตัดสินใจโยกเม็ดเงินกองทุน สิทธิประโยช์ทางภาษีจะต้องมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หุ้น ESG ยังมีของดีราคาถูก
ด้านมุมมองของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่มองว่าหลังจากที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หยุดไปตั้งแต่ปี 2562 และหน่วยงานกำกับดูแลเปลี่ยนไปเน้นส่งเสริมกองทุนรูปแบบอื่นอย่างเช่น rmf SSF และล่าสุด Thai ESG แทนแต่จากคุณลักษณะของกองทุนเหล่านี้ และข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากกลับหันไปเน้นลงทุนในตลาดต่างประเทศผ่านกองทุนอื่นๆ
ล่าสุดมีการพูดถึงการนำมาตรการกองทุนรวม LTF กลับมาใช้ใหม่นั้น ฝ่ายวิจัยของ บล.เคจีไอ ประเมินว่าถ้าหากว่าเกิดขึ้นจริงเชื่อว่าจะเน้นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก และจากความเป็นไปได้ข้างต้นทาง จึงมองว่าหุ้น ESG ที่มีราคาถูกให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง และได้อานิสงส์จากประเด็นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะเป็นเป้าหมายการลงทุนของกองทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีเงื่อนไขในการเข้าลงทุนคือ ข้อแรกเป็นหุ้นที่ราคาถูก หรือถูกขายมาแล้วหนักมากๆ ซึ่งมีการสแกนหาหุ้นESG ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และหุ้นที่ Forward PE ต่ำที่สุดในกลุ่มนี้ในเชิงกลยุทธ์ นั้นพบว่า CPALL KBANK และ KTB มีความน่าสนใจ
ข้อที่ 2 คือหุ้นที่จ่ายปันผลสูงซึ่งฝ่ายวิจัยได้คัดหุ้นแบบตัดหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และหุ้นพลังงานต้นน้ำออก แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะสูง ซึ่งทำให้ SCB มีความน่าสนใจ และเกณฑ์ที่ 3 คือหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากประเด็นเศรษฐกิจระยะสั้นในช่วงปลายไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่ 2 ซึ่งมองว่าตอนนี้นักลงทุนมีความคาดหวังค่อนข้างต่ำกับมาตรการกระตุ้นการบริโภคเฟสที่ 3 ซึ่งน่าจะดำเนินการในไตรมาสที่ 2 (เงินดิจิทัล) ที่น่าจะมีขนาด 1.5 แสนล้านบาท
หลังจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นเฟสที่ 1 กับเฟสที่ 2 นั้นไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะผู้รับเงินส่วนใหญ่เก็บออมเงินเอาไว้หรือนำไปชำระหนี้ครัวเรือน ซึ่งถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถออกแบบกระเป๋าเงินที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนนำเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยผล ถึงจะเป็นผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งหุ้นเด่นยังคงชอบ CPALL
โครงสร้างเศรษฐกิจต้องแก้ไข
ในปี 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในกรอบล่าง 2.3% กรอบบน 3.3% ค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยผลที่น่าจะมาจากโครงการแจกเงินหมื่นนะครับเฟสที่ 2 กับเฟสที่ 3 รวมถึงความเสี่ยงของการค้าโลก
ส่วนความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ ความเสี่ยงจากความผันผวนระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ถัดมาคือภาระหนี้สินครัวเรือนกับภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับที่สูงอยู่ และความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตรทั้งตัวผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้มาตรการต่างๆเข้าไปเสริม เพื่อดึงดูดการลงทุนการ รวมถึงใช้มาตรการในการกระตุ้นการบริโภคต่างๆการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะยิ่งครับในฝั่งของเอกชนและการกระจายเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ
สิ่งที่น่าสนใจคือปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้วยศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจกำลังลดลงเรื่อยๆเนื่องจากว่าสังคมสูงวัยขาดแคลนแรงงานและขาดการลงทุน เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ของไทยเหมือนจะเข้ามาเยอะ แต่ว่าจริงๆแล้วประเทศอื่นตังเงขดังกล่าวก็โตเติบและมากกว่าประเทศไทย ซึ่งแสดงว่าประเทศมีความน่าดึงดูดที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
นำไปสู่ความเห็นว่า การสามารถเพิ่มการลงทุนควรเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ รวมถึงเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาคการผลิตซึ่งถือว่าเป็นตัวดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แล้วถือเป็นตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจที่สูงด้วยดังนั้นถ้าปล่อยให้ภาคการผลิตซึมยาวแบบนี้ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
“ถ้าไทยไม่แก้ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ศักยภาพโดยรวมลดลงต่อเนื่องเหมือนอดีตที่ผ่านมา จนอาจทำให้อีก 5 ปีข้างหน้าศักยภาพการเติบโตของไทยอาจจะไม่ใช่ 3% แล้ว แต่อาจจะลงไปเหลือ 2.5%”
สภาพคล่องที่หดลง
นอกเหนือจากปัจจัยลบในต่างประเทศ การเทขายของกองทุน LTF อีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือ สภาพคล่องของเม็ดเงินที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะสภาคล่องที่เข้ามาซื้อหุ้นโดยการกู้ยืมเงินซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสภาพคล่องน้อย เนื่องจากหุ้นเหล่านี้ไม่สามารถดูดซับแรงขายที่ออกมาได้ นั่นทำให้การลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น Mai มีผลติดลบมากกว่า Set index อยู่มาก
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ หนีไม่พ้นการบังคับขายหุ้น (Force Sell) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากกังวลที่นำหุ้นในมือมาวางค้ำประกันเพื่อนำวงเงินที่ได้รับเข้าไปลงทุนในหุ้นที่ต้องการ เพราะกังวลว่า ราคาหุ้นที่นำไปวางคำประกันอาจปรับตัวลดลงจนถูกบังคับขายหุ้น จึงเลือกทีจะนำหุ้นในพอร์ตที่ไม่ต้องการ หรือให้ผลตอบแทนน้อยมาขายเพื่อนำเงินสดไปลงทุนในหุ้นที่ต้องการซื้อมากกว่าที่จะเลือกวิธีกู้ยืม
ขณะเดียวกัน ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันในเหลือน้อย ด้วยเพราะหุ้นที่ดีส่วนใหญ่มีราคาสูงและเป็นราคาที่เต็มเพดานหรือดูแพงไปแล้วหากต้องการเข้าไปลงทุน ขณะที่หุ้นที่เหลือมีความน่าสนใจน้อยแม้จะมีราคาที่ถูก ด้วยศักยภาพการเติบโตนั้นไม่โดดเด่น
จับตา Jump+ พยุงตลาด
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ตลาดหุ้นไทยจะไม่มีเรื่องดีให้ติดตาม และไม่ใช่แค่การจัดตั้งกองทุน Thai ESG ใหม่เท่านั้นที่จะเข้ามาช่วยพยุงตลาด อีกหนึ่งแผนงานที่น่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แก่โยุทธศาสตร์สำคัญ "Jump+" คือการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทยให้กำไรเติบโตและน่าสนใจลงทุนมากขึ้น ถือเป็นประเด็นที่น่าติดตาม และนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักต่อเรื่องดังกล่าวมาก
เรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน เมื่อ “อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์วางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2568-2570) ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” (Fair & Inclusive Growth) โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ "Jump+" คือการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทยให้กำไรเติบโตและน่าสนใจลงทุนมากขึ้น
“ในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างแรงดึงดูด ต้องกลับมาที่พื้นฐาน คือการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน หากกำไรโต เม็ดเงินต่างๆ ก็จะไหลเข้ามา ดังนั้นเราจึงเร่งผลักดันโครงการ "Jump+" ให้เกิดขึ้น”
สำหรับโครงการ "Jump+" นั้น ตลท.จะเปิดให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาร่วมโดยภาคสมัครใจ ตลท. จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ AI บริการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลท. หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร
โดยจะช่วยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นให้สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจ และสร้างมูลค่าธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยวิธีการคือ ตลาดหลักทรัพย์ จะหารือกับกระทรวงการคลัง พิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้วที่จะเข้าร่วมโครงการในหลายด้าน
เช่น ส่วนแรกจะให้ยกเว้นภาษีกำไรนิติบุคคลเฉพาะกำไรส่วนเพิ่มเมื่อเปรียบเทียบจากฐานของปีก่อนหน้า เช่น ปีก่อนหน้าฐานเท่าไหร่ถ้าทำกำไรได้มากขึ้น จะมีการยกเว้นกำไรส่วนนั้นไปโดยจะยกเว้นเป็นการชั่วคราว 3 ปีแบบมีเงื่อนไข
ถัดมาคือพิจารณายกเว้นภาษีย้อนหลัง คือ การภาษีให้กับกิจการหรือบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้นถ้าบริษัทเหล่านั้น โดยถ้าบริษัทจดทะเบียนเข้าไปควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) บริษัทนอกตลาดดังกล่าว อาจเคยทำบัญชีหรือว่ามีงบ 2 เล่มเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ก็อาจงดการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง เพื่อช่วยส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในด้านเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทจดทะเบียนไทย ขณะเดียวกันจะเป็นการดูดบริษัทนอกตลาดให้เข้ามาอยู่ในตลาดเพิ่ม เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้นผ่านการ M&A
รอผลกระตุ้นระยะสั้น-กลาง
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้พอสรุปได้ว่า การปลุกให้ตล่าดหุ้นไทยกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้สำเร็จได้โดยเร็วๆ แม้จะมีการกองทุนThai ESG ใหม่ แต่ก็เริ่มมีกระแสข่าวที่ทำให้เชื่อว่าเม็ดเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาทอาจไม่ย้ายเข้าไปที่กองทุนใหม่นี้ทั้งหมด นั่นหมายถึงจะยังเห็นแรงเทขายเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยต่อแต่อาจไม่รุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่ควบคุมดุแลและกำหนดทิศทางตลาดทุนไทย ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกมาก ทั้งการเพิ่มศักยภาพบริษัทจดทะเบียนเพื่อเพิ่มแรงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ซึ่งการลดหย่อนทางภาษีในส่วนต่างๆ หรือลดหย่อนภทาษีเพิ่มเติมอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องกลับไปดูที่เงื่อนไขหรือกฏเกณฑ์ของเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาว่าติดขัดหรือสะดุดในเรื่องใดบ้าง
นั่นทำให้ในส่วนของนักลงทุนทั่วไปหรือรายย่อย เน้นการเพิ่มสัดส่วนถือครองเงินสดในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากตลาดยังมีความผันผวนมีความเสี่ยง การตัดสินใจเข้าลงทุนอาจไม่ใช่ควรคิดที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามหุ้นพื้นฐานแกร่ง จ่ายปันผลดี และราคาถูก ยิ่งช่วงนี้ราคาหุ้นหลายบริษัทที่แข็งแกร่ง ราคาหุ้นกลับรูดลงมาเหมือนอยู่ในช่วงสถานกาณ์โควิด-19 แพร่ระบาดยิ่งไม่ควรมองข้าม