xs
xsm
sm
md
lg

แจกอาวุธรายย่อยสู้ ROBOT TRADE / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภายในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะผลักแผนการสำคัญช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงระบบการซื่อขายหุ้นที่มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วและมีความเท่าเทียมการลงทุนในตลาดหุ้น

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า กำลังเคลื่อนแผนการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม โดยยกระดับบริการ Co-location พื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์และเชื่อมต่อระบบซื้อขายจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัทโบรกเกอร์หรือบริษัทสมาชิก (บล.) ทุกรายจะสามารถเข้าถึงบริการ Co-location ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะยกระดับการบริการลูกค้า เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลการซื้อขายหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเท่าเทียม

การเปิดให้บริษัทโบรกเกอร์รวมทั้งหมด 36 แห่ง สามารถเข้าถึง Co-location โดยเปิดพื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์และเชื่อมต่อระบบซื้อขายหุ้นจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์โดยตรง นอกจากจะลดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันของโบรกเกอร์ด้วยกันแล้ว ยังลดความเสียเปรียบในการส่งคำสั่งซื้อขายระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับนักลงทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติด้วย

เพราะโบรกเกอร์ที่ได้พื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์และเชื่อมต่อระบบซื้อขายหุ้นจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมีลูกค้าต่างชาติที่ใช้โปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT TRADE ทำให้ส่งคำสั่งซื้อขายได้รวดเร็วกว่า ประมวลคำสั่งซื้อขายทั้งหมดได้ภายในพริบตา และคาดหมายแนวโน้มราคาหุ้นได้เบ็ดเสร็จ

ROBOT TRADE บุกเข้ามาโจมตีตลาดหุ้นไทยประมาณ 6 ปีแล้ว โดยการส่งคำสั่งซิ้อขายที่รวดเร็วปานสายฟ้า เพราะโบรกเกอร์ที่นักลงทุนต่างชาติเปิดบัญชีไว้เชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ตรงจากศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ต้องส่งคำสั่งซื้อขายทางอ้อม ซึ่งทำรายการได้ช้ากว่า ทำให้นักลงทุนรายย่อยในประเทศตกอยู่ในฐานะผู้เสียเปรียบ

สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหุ้นของต่างชาติ ปัจจุบันมีมากกว่า 50% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นแต่ละวัน และเกิดจากการซื้อขายผ่าน ROBOT กว่า 40% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นรวมในแต่ละวัน

การประมวลผลคำสั่งซื้อขาย และการป้อนคำสั่งที่รวดเร็วกว่า โดยเฉพาะการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความเร็วสูงหรือ HIGH FREGUENCY TRADING (HFT) ยิ่งขยายช่องว่างของความเสียเปรียบระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับต่างชาติที่ใช้ HFT กับนักลงทุนรายย่อย

ปี 2556 HFT มีสัดส่วนการซื้อขายประมาณ 73% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

การเข้ามาของ ROBOT TRADE นำความย่อยยับสู่นักลงทุนรายย่อยภายในประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะความเสียเปรียบในการส่งคำสั่งซื้อขายที่ล่าช้ากว่า

และคำสั่งซื้อขายหุ้นที่รวดเร็วหรือล่าช้ากว่าเพียงเสี้ยววินาที นำไปสู่โอกาสการได้เสียอย่างมีนัยสำคัญ โดย ROBOT ซึ่งสามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้นตัดหน้านักลงทุนรายย่อยได้ทุกเสี้ยววินาที

นักลงทุนรายย่อยในประเทศไม่มีวันสู้เครื่องจักรกล ROBOT ได้ และ ”ถูกกิน” มาตลอด โดยเฉพาะนักเก็งกำไรระยะสั้น

ยิ่งขนเงินมาสู้ ยิ่งซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กที่ราคาขึ้นลงอย่างร้อนแรง ยิ่งขาดทุนหนัก เจ็บหนัก

ช่วง 6 ปีก่อนหน้า คือระหว่างปี 2562-2567 นักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อหุ้นสะสมสุทธิประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งหุ้นแทบทั้งหมดมีต้นทุนสูง จึงขาดทุนกันถ้วนหน้า

นักลงทุนรายย่อยในประเทศประมาณ 3 ล้านคน แทบทุกคน "ติดหุ้น" อยู่ยอดดอย และทุกคนซื้อหุ้นจนหมดตัว เงินแห้งกระเป๋า จนหมดกำลังซื้อ

กลุ่มที่โกยกำไร ขนเงินจากประเทศไทยกลับบ้านปีละนับพันนับหมื่นล้านบาทคือ บรรดานักลงทุนต่างชาติที่มาพร้อมอาวุธครบมือ บุกโจมตีตลาดหุ้นไทยด้วย ROBOT

นักลงทุนรายย่อยในประเทศเคยลุกฮือ เรียกร้องให้นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนก่อนหน้า แก้ปัญหา ROBOT โดยสั่งห้ามการซื้อขายด้วย ROBOT เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ซึ่งห้ามนำ ROBOT เข้าซื้อขาย

แต่นายภากรไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องของนักลงทุน ปล่อยให้ต่างชาติใช้ ROBOT เล่นเอาเปรียบ นั่งดูนักลงทุนในประเทศเจ๊งกันเป็นแถบ โดยไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมของนักลงทุนในประเทศแต่อย่างใด

การเปิดให้โบรกเกอร์ทุกรายเชื่อมต่อระบบซื้อขายตรงกับศูนย์การซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นการทำลายกำแพงที่ขวางกั้นความได้เปรียบระหว่างนักลงทุนต่างชาติที่ใช้ ROBOT TRADE กับนักลงทุนรายย่อย และเป็นการเปิดศักราชใหม่ในความเท่าเทียม เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น หลังจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศถูกฝรั่งขี่คอเล่นหุ้นมาเป็นเวลากว่า 6 ปี

แผนการสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในการซื้อขายหุ้น จะทำให้นักลงทุนทุกกลุ่มไม่มีใครมีเอกสิทธิ์ที่ได้เปรียบกว่า ไม่มีต่างชาติใช้ ROBOT เป็นอาวุธปล้นนักลงทุนในประเทศ

แม้มาตรการดีๆ จะคลอดออกช้าไปสักหน่อย แต่ไม่สายเกินไปที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยในประเทศ ได้สัมผัสกับความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในการซื้อขายหุ้น

ถ้าไม่ขี่คอเล่นหุ้น ถ้าซื้อขายหุ้นบนความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน ดูซิว่า ฝรั่งหัวดำหัวแดงจะเก่งกว่าหรือไม่

ลองดูกันสักตั้งว่านักลงทุนรายย่อยในประเทศจะสู้นักลงทุนต่างชาติไหวหรือไม่








กำลังโหลดความคิดเห็น