xs
xsm
sm
md
lg

กระดานเทรด Upbit อ่วม!! พบละเมิด KYC กว่า 700,000 กรณี เสี่ยงโทษหนักโดนปรับอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการบริการทางการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) เตรียมลงโทษ Upbit แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตรายใหญ่ของประเทศ หลังพบการละเมิดกฎระเบียบ Know Your Customer (KYC) มากกว่า 700,000 กรณี ซึ่งอาจนำไปสู่โทษปรับมหาศาลหลายพันล้านวอน รวมถึงมาตรการลงโทษอื่น เช่น การระงับการลงทะเบียนผู้ใช้ใหม่

FSC เตรียมลงดาบ กระทบตลาดคริปโตวงกว้าง

Upbit เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดคริปโตในเกาหลีใต้ มากกว่า 80% ทำให้กรณีนี้อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ระบุว่า Upbit อาจต้องเผชิญกับค่าปรับสูงสุด 68,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 ล้านบาท) ต่อกรณีละเมิด ภายใต้พระราชบัญญัติธุรกรรมทางการเงินพิเศษของเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อคำนวณรวมกันแล้ว อาจมีโทษปรับรวมมูลค่าหลายพันล้านวอน

ถูกสอบสวนหนัก คาดอาจถูกจำกัดการดำเนินงาน

ตามรายงานของ The Korea Times มีการคาดการณ์ว่า Upbit อาจถูกระงับการดำเนินการชั่วคราว จำกัดการลงทะเบียนผู้ใช้ หรือถูกบังคับให้ดำเนินมาตรการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น

ขณะนี้ FSC กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดแนวทางกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตของเกาหลีใต้ในอนาคต

กฎระเบียบด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศเข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการบังคับใช้ กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้สินทรัพย์เสมือน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567

Upbit ละเมิด KYC สู่จุดเปลี่ยนของตลาดคริปโตเกาหลีใต้?

FSC ได้เปิดการสอบสวน Upbit ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยกล่าวหาว่าแพลตฟอร์มล้มเหลวในการยืนยันตัวตนของลูกค้าอย่างถูกต้อง ซึ่งถือเป็นมาตรการพื้นฐานในการป้องกันการฟอกเงินและกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย

หน่วยข่าวกรองทางการเงินของเกาหลีใต้ (KoFIU) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสืบสวนพบการละเมิด KYC มากกว่า 700,000 กรณี นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่า Upbit อำนวยความสะดวกให้เกิดการทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต

ด้าน Dunamu บริษัทแม่ของ Upbit ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหา แต่หน่วยงานกำกับดูแลยังคงยืนกรานในจุดยืนของตน

กรณีนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการคริปโตของเกาหลีใต้ เนื่องจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อาจต้องเผชิญกับมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น

ขณะนี้ FSC ได้เริ่มตรวจสอบ Korbit และ GOPAX แล้ว ขณะที่ Bithumb และ Coinone กำลังอยู่ในคิวต่อไป

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแสดงความกังวลว่า แรงกดดันด้านกฎระเบียบต่อ Upbit อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเล็ก ซึ่งอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นได้

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่า "หากแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Upbit ถูกลงโทษ ผู้ให้บริการรายเล็กย่อมเผชิญแรงกดดันที่หนักหน่วงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

Upbit จากแพลตฟอร์มที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สู่เป้าหมายการสอบสวน

ที่น่าสนใจคือ Upbit เคยได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ปฏิบัติตามกฎหมายมากที่สุด โดยเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนรายแรกที่ลงทะเบียนภายใต้กฎหมายกำกับดูแลใหม่ของเกาหลีใต้ในปี 2564

Upbit ยังเป็นผู้นำในการนำระบบ ยืนยันตัวตนด้วยชื่อจริง (Real-name Verification) และจับมือกับธนาคารท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การตรวจสอบครั้งนี้สะท้อนถึงแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้นของหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่

แรงกดดันจากภาครัฐและความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

ปัญหาของ Upbit ไม่ใช่กรณีแรก ก่อนหน้านี้ Bithumb คู่แข่งสำคัญก็เคยถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะประเด็นการชดเชยลูกค้าจากเหตุการณ์แพลตฟอร์มล่มใน "วันกฎอัยการศึก" เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ ตลาดคริปโตปั่นป่วน ราคาบิทคอยน์ร่วงหนัก และมีการเทรดอย่างรุนแรงจนแพลตฟอร์มรับภาระไม่ไหว

หลังจากเหตุการณ์นั้น Upbit และ Bithumb ตกลงจ่ายเงินชดเชยรวมกันกว่า 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 86 ล้านบาท) ให้กับลูกค้ากว่า 720 ราย

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ว่าการจ่ายค่าชดเชยขาดมาตรฐาน เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มกำหนดเงื่อนไขเอง โดยไม่มีแนวทางที่เป็นระบบ

มาตรการของรัฐบาลและอนาคตของตลาดคริปโตเกาหลีใต้

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้มีมาตรการเข้มงวดขึ้น โดยสั่งให้ ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตเพิ่มความจุของเซิร์ฟเวอร์ ปรับปรุงบริการคลาวด์ และเสริมระบบตอบสนองเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุขัดข้องในอนาคต

สำนักงานบริการกำกับดูแลทางการเงิน (FSS) ยังคงติดตามการดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และอาจออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นอีก

ขณะเดียวกันธนาคารรายใหญ่ของเกาหลีใต้กำลังจับตามองโอกาสใหม่ๆ ในตลาดคริปโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลเตรียมเปิดให้บริษัทต่างๆ ซื้อบิทคอยน์และโทเค็นอื่นๆ ด้วยงบดุลได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้สัญญาความร่วมมือระหว่าง Upbit กับ K Bank กำลังจะหมดอายุในเดือนตุลาคม ทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง KEB Hana Bank และ Woori Bank ต่างจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยหวังเข้ามามีบทบาทในตลาดคริปโตมากขึ้น