ปมธุรกรรมอันต้องสงสัยในความไม่โปร่งใส เข้าข่ายการไซฟ่อน ผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) หรือ QLT ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการบริษัท
เพราะมีความผิดปกติในการบริหารงาน ซึ่งเกิดจากการขาดความระมัดระวังอย่างเพียงพอ และขาดความภักดี ปมที่คณะกรรมการตรวจสอบ QLT มี 3 ประเด็นหลักคือ การว่าจ้างที่ปรึกษาบริษัท MOON TAKEN จำกัด ซึ่งเดิมตกลงราคาว่าจ้างทีมงานวิเคราะห์การทำงานที่ 1.05 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2566)
แต่กลับมีการทำสัญญาผ่านบริษัท Moon Taken จำกัด มูลค่าสูงถึง 5 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน และคณะกรรมการตรวจสอบได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้ว
การทำธุรกรรมของบริษัท ดูเวลล์ อินเตอร์เทรด (บริษัทย่อย) กับบริษัท Siam Offshore จำกัด ในการซื้อขายอุปกรณ์ Oilfield Equipment 21 ชิ้น ที่มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญาหลายครั้ง จนเกิดความเสียหาย 1.77 ล้านบาท บริษัทจึงได้ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อ 27 กันยายน 2567
และกรณีการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่เป็นปกติ ซึ่งคณะกรรมการ QLT ชุดก่อนหน้าได้อนุมัติให้บุคคลดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร โดยไม่มีเอกสารว่าจ้างใดๆ ในอัตราเงินเดือน 600,000 บาท และค่าตำแหน่ง 50,000 บาทต่อเดือน ค่ารับรองวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อเดือน
มีรถประจำตำแหน่ง Volksawagen จำนวน 1 คัน พร้อมค่าน้ำมันเดือนละ 12,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบถือเป็นรายการเกี่ยวโยง จึงมติให้คณะกรรมการบริหารยกเลิกการเป็นที่ปรึกษาของบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นแล้ว
คณะกรรมการ QLT ชุดใหม่ เริ่มเข้ามาบริหารงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยได้เข้ามากอบกู้บริษัท ทั้งด้านธุรกิจและการบริหารงานภายใน และพบธุรกรรมหลายด้านที่มีปัญหา รวมทั้งการอนุมัติโครงการต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายให้บริษัท แต่มี 3 กรณีที่มีหลักฐานชัดเจน
QLT ดำเนินธุรกิจให้บริการทดสอบโดยไม่ทําลาย (Non-Destructive Testing) การตรวจสอบและรับรองคุณภาพ (Inspection and Certification) และการทดสอบคุณสมบัติทางกลและโลหะวิทยา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 9 มิถุนายน 2552 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนครั้งในราคาหุ้นละ 4 บาท จากพาร์ 1 บาท ในด้านปัจจัยพื้นฐาน หุ้นไม่มีความโดดเด่น และผลประกอบก็ย่ำแย่ โดยปี 2566 ขาดทุน 141.34 ล้านบาท งวด 9 เดือนแรกปี 2567 ขาดทุน 6.42 ล้านบาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่มีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก โดยผู้ถือหุ้นใหญ่อัน 1 คือนายกิตติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ถือในสัดส่วน 63.80% หุ้นสัดส่วน 8.20% ของทุนจดทะเบียน นอกนั้นถือหุ้นลดหลั่นกันไป โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 1,243 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 63.80%
QLT แม้เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดประมาณ 280 ล้านบาท และยอดรวมได้รวมระดับ 200 ล้านบาทเศษ แต่กลับมีกรรมการถึง 19 คน โดยการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ผู้ถือหุ้นอนุมัติเพิ่มกรรมการใหม่อีก 10 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นอีกส่วนหนึ่งที่เรียกร้องให้เปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.มหาชน
ธุรกรรมอันต้องสงสัยในความไม้โปร่งใส เข้าข่ายการฉ้อฉล ยักยอกทรัพย์ ผ่องถ่าย ไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน โกงผู้ถือหุ้นใหญ่เกิดขึ้นมาตลอด แต่น้อยรายที่จะถูกกล่าวโดยดำเนินคดีอาญา และยิ่งถูกตัดสินลงโทษติดคุกติดตะรางชดใช้กรรม มีเพียงไม่กี่คดีเท่านั้น
ปมธุรกรรมอันต้องสงสัยใน QLT ประเด็นที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และนำเบาะแสธุรกรรมผิดปกติแจ้งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนตรวจสอบ ซึ่งน่าจะเป็นคดีแรกที่คณะกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนออกมาทำหน้าที่ที่ดี
เพราะไม่เคยมีคณะกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนแห่งใดออกมาเปิดโปงความผิดพลาด ความผิดปกติ เข้าข่ายไม่สุจริตของฝ่ายบริหารบริษัท ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหารบริษัท นั่งกินเงินเดือนไป ไม่กล้ามีปากมีเสียง แม้จะเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนโกงอย่างตำตาก็ตาม
ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดลุกขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย โจรใส่สูทในคราบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนคงถูกจับเข้าคุกกันเป็นแถว
ปมธุรกรรมผิดปกติ ถูกส่งถึงมือ ก.ล.ต.แล้ว จากเบาะแสที่มีจากคณะกรรมการตรวจสอบบริษัท น่าจะสาวไปถึงตัวฝ่ายบริหารที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายโยกเงินออกจาก QLT ได้โดยไม่ยาก