นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 ม.ค.) ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.71 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น จากคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างเงินยูโร (EUR) ที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 แม้ว่า เงินยูโรจะสามารถแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.75% ตามคาดก็ตาม อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังไม่สามารถกดดันเงินบาทได้มากนัก เนื่องจากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้ (New All-Time High) ท่ามกลางความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยรับมือความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจทรงตัวแถวระดับ 2.8% สอดคล้องกับมุมมองของเฟดล่าสุดที่ยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำให้เฟดตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการรีบาวนด์ขึ้นของเงินดอลลาร์บ้าง ทว่าเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility โดยเงินบาทเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงได้ ทว่าในกรณีดังกล่าว หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้างอาจพอช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำได้บ้าง ทำให้เรามองว่า ในช่วงนี้อาจต้องติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้
นอกจากนี้ เรามองว่าควรจับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน
ทั้งนี้ เราแนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ย +0.10%/-0.23% (เงินบาทมักจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าอ่อนค่า) ได้ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที