xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจสอบด่วน...เจ้ามือ บจ.ใดจำนำหุ้น / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานข้อมูลการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น หรือบัญชีสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น ประจำเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเชื่อว่า เป็นการรายงานข้อมูลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเท่าที่เคยมีการรายงานนับจากต้นปี 2566

นักลงทุนกำลังตื่นตัวกับการติดตามการนำหุ้นไปจำนำของผู้บริหารหรือผู้ถือห้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน เพราะถือเป็นข้อมลที่มีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจซื้อขายหุ้น

บริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นถูกนำไปจำนำเพื่อขอมาร์จิ้นจำนวนมาก กลายเป็นหุ้นอันตราย และนักลงทุนจะหลีกเลี่ยงเข้าไปซื้อขาย เพราะตระหนักถึงผลกระทบได้ดี หากมีการบังคับขายหรือ FORCE SELL หุ้นที่นำไปวางมาร์จิ้น

วิกฤตการบังคับขายปะทุขึ้นเหมือนภูเขาไฟระเบิด ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2567 มีหุ้นนับสิบบริษัทที่ร่วงติดฟลอร์ 30% เพราะผลกระทบจากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ถูกจับบังคับขายหุ้น โดยหลายตัวถูกบังคับขาย จนราคาหุ้นทรุดติดฟลอร์ 4-5 วันติด

ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องรับเคราะห์ เพราะวันดีคืนดี ราคาหุ้นที่ถือไว้ ถูกเทขาย จนราคาดิ่งลงแรงหลายวันติด ทำให้ผู้ถือห้นรายย่อยนับพันนับหมื่นเจ๊งหมดตัวภายในเวลาไม่กี่วัน

ทุกคนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลการจำนำหุ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะรายงานประจำทุกเดือน แม้ข้อมูลอาจล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ไปบ้าง แต่เป็นอีกตัวช่วยสำคัญในการประกอบการพิจารณาตัดสินใจหุ้นแต่ละตัว

บริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำมาร์จิ้น ในระดับต่ำกว่า 5% ของทุนจดทะเบียน นักลงทุนคงพอรับได้ แต่ถ้าจำนำเกิน 5% เริ่มไม่น่าไว้วางใจ และถ้าจำนำเกิน 10% ของทุนจดทะเบียน ถือว่าเริ่มเข้าสู่เขตที่มีความเสี่ยง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการลงทุน

แต่ถ้าตัวเลขการจำนำหุ้นพุ่งขึ้นเกิน 20% ของทุนจดทะเบียนขึ้น ยิ่งขึ้นไประดับ 40-50% ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และถ้าซื้อหุ้นเข้าไปก่อนแล้ว อาจต้องตัดสินใจขายทิ้ง

เพราะไม่รู้ว่าภูเขาไฟจะระเบิดเมื่อไหร่ จะเกิดการบังคับขาย จนราคาหุ้นดิ่งติดฟลอร์ 30% วันใด

ข้อมูลการจำนำหุ้นล่าสุดเดือนธันวาคมที่ตลาดหลักทรัพย์รายงาน นำไปใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลการจำนำหุ้นเดือนก่อนหน้าหรือเดือนพฤศจิกายนได้อย่างดี เพราะทำให้รู้ว่า ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนรายใดถูกบังคับขายหุ้นไปหมดหรือยัง ใครยังไม่ถูกบังคับขาย หรือมีผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใดนำหุ้นไปจำนำเพิ่มขึ้นหรือไม่

บริษัท ซัดเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM เคยเป็นแชมป์ นำหุ้นไปจำนำในสัดส่วนสูงที่สุดเดือนพฤศจิกายน จำนวน 52.04% ของทุนจดทะเบียน และถูกบังคับขายจนราคาหุ้นลงเกือบ 5 ฟลอร์ติดต่อ แต่เดือนธันวาคม แทบไม่เหลือหุ้น SCM ที่นำไปจำนำ ซึ่งอาจถูกบังคับขายไปหมดแล้ว

ส่วนเดือนธันวาคม 2567 หุ้นที่เป็นแชมป์ มียอดหุ้นที่ถูกนำไปวางมาร์จิ้นสูงสุดคือ ไทยฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG โดยมีสัดส่วนการจำนำหุ้น 44.02% ของทุนจดทะเบียน และถือเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงจากการถูกบังคับขายมากที่สุดประจำเดือนมกราคม 2568

ข้อมูลการรายงานจำนำหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นเพียงข้อมูลการนำหุ้นวางค้ำมาร์จิ้นในระบบตลาดทุนที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ยังมีหุ้นที่ถูกนำไปวางค้ำประกันการกู้ยืมนอกระบบตลาดทุนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังเป็นช่องโหว่อยู่

แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังเตรียมออกหลักเกณฑ์การจำนำหุ้น เพื่อครอบคลุมรายการจำนำหุ้นทั้งหมด โดยกำหนดให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่นำหุ้นไปจำนำต้องรายงานข้อมูลจำนำหุ้น ซึ่งหากหลีกเลี่ยงการรายงาน จะถูกลงโทษหนัก ถึงขั้นปรับและจำกัด ซึ่งอาจเริ่มมีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกปีนี้

นักลงทุนบางส่วนอาจมีความรู้สึกว่า ข้อมูลการจำนำหุ้นที่รายงานประจำเดือนอาจช้าเกินไป เพราะกว่าจะเป็นข้อมูล การบังคับขายอาจเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องย่นระยะเวลาการรายงานให้เร็วขึ้น อาจเป็นทุก 15 วัน ซึ่ง ก.ล.ต.คงคิดถึงช่วงความถี่การรายงานข้อมูลเหมือนกัน แต่กระบวนการน่าจะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ แก้ไขจุดบกพร่อง

แต่กระบวนการต่อไป ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนคือ การกำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนทุกราย เมื่อนำหุ้นไปจำนำ ไม่ว่าในระบบตลาดทุนหรือนอกระบบ จะต้องแจ้งให้ ก.ล.ต. เพื่อนำข้อมูลเผยแพร่ต่อนักลงทุน และใช้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนหุ้นแต่ละตัว

เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนคนใด ลักลอบจำนำหุ้น ปกปิดข้อมูลนักลงทุน มีสิทธิติดคุกทีเดียว








กำลังโหลดความคิดเห็น