ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกรณีธนาคารในสหรัฐฯ หลายแห่งประกาศถอนตัวจากกลุ่ม the Net-Zero Banking Alliance (NZBA) ในช่วง 1 เดือนก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะยกเลิกนโยบายทั้งหมดเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยในวันแรกหลังพิธีสาบานตน (20 ม.ค.2568) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีถอนตัวจากข้อตกลงปารีส และยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ธนาคารหลายแห่งนอกสหรัฐฯ กำลังพิจารณาถอนตัวออกมาด้วยเช่นกัน โดยธนาคารในแคนาดา 5 แห่งได้ประกาศถอนตัว NZBA หลังจากวันพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารในยุโรปกำลังพิจารณาถอนตัวจาก NZBA
ดังนั้น การเข้ามาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้สถาบันการเงินต้องลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วงก่อนนายโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ได้มีการฟ้องศาลและเสนอกฎหมายต่อต้าน ESG ว่านโยบายลด GHG ของสถาบันการเงินเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดขวางการดำเนินธุรกิจอย่างเสรีของอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยรัฐที่มีการฟ้องร้องหรือมีการออกกฎหมายต่อต้าน ESG มีจำนวน 22 รัฐ ทำให้สถาบันการเงินชั้นนำ มองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการฟ้องร้องมากขึ้นหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2568-2572)
อย่างไรก็ดี ธนาคารที่ออกจากกลุ่ม NZBA จะยังคงสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายลด GHG เหมือนเดิม แต่อาจมีการปรับปรุงกลยุทธ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของลูกค้า ซึ่งล้วนมีบริบทที่แตกต่างกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2564 ธนาคาร 6 แห่งในสหรัฐฯ มีการสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะยังคงให้การสนับสนุนต่อ
สำหรับประเทศไทย แม้ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่ม NZBA ดังเช่นสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในไทยยังคงต้องดำเนินนโยบายตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065) ประเทศไทยมีแผนลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับสหประชาติว่าจะลด GHG 40% ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065) โดยนับตั้งแต่ปี 2565 ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งในไทยมีการตั้งเป้าหมายการลด GHG ที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว และมีการดำเนินการในแนวทางที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของตนเอง เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการให้สินเชื่อ รวมไปถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ลูกค้าตามลักษณะของการปล่อย GHG ในแต่ละอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการถอนตัวจากกลุ่ม Net Zero ของกลุ่มธุรกิจบริการด้านการเงินหลายแห่งจะไม่ส่งผลกระทบการดำเนินการเพื่อลด GHG แต่แสดงให้เห็นถึงบริบทที่เปลี่ยนไปตามนโยบายของผู้นำประเทศ ซึ่งอาจทำธุรกิจบริการด้านการเงินทั้งธนาคาร กองทุน ประกัน หรือธุรกิจด้านการเงินอื่นๆ ที่ดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ หรือดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ต้องทบทวนแนวนโยบายด้านการลด GHG เพื่อพร้อมรับนโยบายที่เปลี่ยนไปของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์