นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ม.ค.) ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.10 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.78-33.92 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวนด์แข็งค่าขึ้นบ้างตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตอบรับแนวโน้มโครงการลงทุนใน AI (Stargate Project) ของรัฐบาล Trump 2.0
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลว่า สหภาพยุโรปอาจเสี่ยงเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากรัฐบาล Trump 2.0 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 156.50 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ย่อตัวลงบ้างตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนธันวาคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 7.30 น.) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะรู้ผลการประชุม BOJ ในวันศุกร์นี้ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า BOJ มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมกราคมนี้ และทั้งปีอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง หรือ 50bps
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนในช่วงระหว่างวันนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways ใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน โดยอาจผันผวนไปตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลงต่ออาจเพิ่มแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้างจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยโดยบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ไปพอสมควร อย่างไรก็ดี เราขอเน้นย้ำว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 จะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงิน ซึ่งเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงเร็วและแรงได้ทุกเมื่อ หากมีความชัดเจนของการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า
แม้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ก็อาจติดโซนแนวต้านแรกแถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านถัดไปช่วง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ (ถ้าหากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสกลับไปแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ และสัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following จะสะท้อนโอกาสเงินบาทอ่อนค่าลงได้) ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.65 บาทต่อดอลลาร์
เรามองว่าผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง Jobless Claims ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงเช้าของวันศุกร์นี้