เปิดผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์รวม 11 แห่งประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 252,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,019 ล้านบาท คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่มีผลกำไรสูงสุดได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิ 48,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.60% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามด้วยธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% เมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัทเอสซีบีเอกซ์ (SCB) มีกำไรสุทธิ 43,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับปีก่อน ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิ 43,855 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.77% เมื่อเทียบกับปีก่อน ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกำไรสุทธิ 21,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) มีกำไรสุทธิ 3,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.91% เมื่อเทียบกับปีก่อน และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิ 2,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีผลกำไรลดลง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ 29,700 ล้านบาท ลดลง 9.81% เมื่อเทียบกับปีก่อน ธนาคารทิสโก้ (TISCO) มีกำไรสุทธิ 6,901 ล้านบาท ลดลง 5.48%.เมื่อเทียบกับปีก่อน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มีกำไรสุทธิ 4,985 ล้านบาท ลดลง 8.41% เมื่อเทียบกับปีก่อน และบริษัทแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) มีกำไรสุทธิ 2,048 ล้านบาท ลดลง 2.39% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ ในด้านของคุณภาพหนี้แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL) ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับขึ้นเพิ่ม-ลดเพียงเล็กน้อย จากการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงยังคงมีการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมเพื่อรองรับความไม่แน่นอน-ผันผวนในอนาคต และในปี 2568 ยังคงใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2568 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาในภาคการผลิตและภาระหนี้เอกชนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะการส่งมอบผลตอบแทนที่มั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้น การดูแลช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) ตลอดจนการให้ความร่วมมือโครงการภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิต และธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 3+1 และการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความท้าทายในหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี กลุ่ม SCBX มุ่งเติบโตธุรกิจด้วยความระมัดระวัง บริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรอบคอบ เน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะการเงิน นอกจากนี้ บริษัทได้จัดตั้งบริษัท PointX เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าของกลุ่ม อีกทั้ง SCBX ยังได้รับการรับรองเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นจาก SBTi โดยเป็นองค์กรแรกในกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 และการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะต่อไป
สำหรับในปี 2568 SCBX จะเน้นสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคโดยมุ่งไปที่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการติดตามจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และบริษัทจะเดินหน้าให้ความเชื่อเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางภายใต้มาตรการของภาครัฐอย่างเต็มกำลัง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ปี 2568 เป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัย Krungthai Compass ประเมินเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ซึ่งยังคงต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้ง ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าระลอกใหม่ จากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากภาวะ Oversupply ของสินค้าจีน และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยน (Inflection Point) ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วน และในปีนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” เสริมสร้างและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill) ให้แก่พนักงาน ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าของธนาคารในทุกมิติ เพื่อสร้างการเติบโตและมูลค่าทางเศรษฐกิจบนความไว้วางใจของลูกค้า นำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (TTB) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยรวมถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธนาคารทั้งในด้านรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ ทีทีบียังคงยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ และมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านต้นทุนและรายได้ให้สอดคล้องกัน พร้อมทั้งดูแลคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการบริหารส่วนทุน เพื่อให้การใช้ส่วนทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น
โดยที่ผ่านมาธนาคารเน้นย้ำการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพและเน้นกลุ่มที่ธนาคารมีความชำนาญและเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็แก้ปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการตั้งหลัก โครงการคุณสู้เราช่วย รวมไปถึงโครงการรวบหนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ทีทีบีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการรวบหนี้แล้วกว่า 37,000 ราย เพิ่มขึ้นจากระดับ 17,000 ราย ณ สิ้นปี 2566 เทียบเท่ากับว่าธนาคารสามารถช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 2,100 ล้านบาท