"อนันต์กร อมรวาที" นายกฯ ป้ายแดง สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคนใหม่ นำทัพขับเคลื่อนองค์กรฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปิ๊งไอเดีย หากลดหย่อนภาษีปลูกสร้างบ้านสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ช่วยกระตุ้นตลาด เตรียมเดินสายพบปะสถาบันการเงินชั้นนำ หนุนปล่อยสินเชื่อลูกค้าสมาคมฯ ยอมรับตลาดกลุ่มต่ำ 5 ล้านบาท หดตัวแรง พร้อมประกาศเร่งสร้างรับรู้ เข้าใจ เข้าถึงผู้บริโภค เป้าหมายเพื่อการเติบโตยั่งยืน
นายอนันต์กร อมรวาที กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์ แปลน 101 จำกัด ผู้นำบริษัทรับสร้างบ้านหรู ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) คนใหม่ คนที่ 11 เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในปี 2568 ว่า หากประเมินจากแบ่งเซกเมนต์ตามระดับราคา บ้านที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท คาดว่ากำลังซื้อในกลุ่มนี้เกิดการชะลอตัวและหดตัวลง จากปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่เป็นผลมาจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ขณะที่เซกเมนต์ระดับราคาบ้าน 5-10 ล้านบาท ได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น ส่งผลให้การยื่นขอสินเชื่อได้รับการปฎิเสธ หรืออนุมัติแต่ไม่เต็มวงเงินที่ต้องการ
เซกเมนต์ราคาบ้าน 10-20 ล้านบาท ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้ชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้านออกไป ส่วนเซกเมนต์บ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มผู้มีเงินออมอยู่แล้ว แต่ด้วยความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจออกไปบ้าง
"ถามผมว่า ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง ภาพรวมยังไม่ชัด มีแต่ปัญหาและอุปสรรคจากภาวะด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ประเทศสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้ปี 2568 เป็นอีกปีที่ตลาดรับสร้างอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย เอกชนต้องช่วยเหลือตัวเราเอง แต่ก็ยังดีตรงที่วัสดุก่อสร้าง ราคายังทรงๆ เหตุผลเพราะดีมานด์ยังมีน้อย บางบริษัทรับสร้างบ้านอาจปรับราคาบ้าง ไม่สูงประมาณร้อยละ 3-5 เนื่องจากไม่ได้ปรับมานาน และไม่ขึ้นราคาแรง เพราะกังวลเรื่องกำลังซื้อ แม้ว่าตอนนี้จะมีเรื่องค่าแรง แต่ยังไม่ได้ส่งผลมาก เนื่องจากราคาค่าจ้างจริงที่เป็นอยู่สูงกว่าที่ทางการประกาศ แต่หากค่าแรงไปแตะ 600 บาท ตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ กระทบหนักมาก ทั้งค่าแรง และวัสดุก่อสร้างที่จะปรับขึ้นทางอ้อมอีก" นายอนันต์กร กล่าว
อย่างไรก็ดี ทางตน (นายกสมาคมคนใหม่) และสมาชิกสมาคมจะมีการเดินทางไปพบปะกับสถาบันการเงินในแต่ละแห่ง เพื่อขอความชัดเจน และการพิจารณาผ่อนปรนการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ (Credit Scoring) ซึ่งในแต่ละธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อจะมีการพิจารณากลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน เช่น ธนาคารกรุงเทพ จะเน้นลูกค้าที่ปลูกสร้างบ้านราคาสูง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย กลุ่มลูกค้าระดับกลาง หรือแม้แต่ธนาคารยูโอบี ปล่อยสินเชื่อที่หลากหลาย แต่เท่าที่ติดตาม ธนาคารทหารไทย มียอดการปล่อยสินเชื่อลูกค้าสร้างบ้านกับทางสมาคมค่อนข้างมาก ทั้งนี้ พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป เดิมจะใช้เงินออมในการปลูกสร้างบ้าน แต่ในระยะที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ลูกค้าที่ปลูกสร้างบ้านกับทางสมาคมจะหันมาพึ่งพอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเฉลี่ยในสัดส่วนร้อยละ 70 และร้อยละ 30 ใช้เงินออมของตนเองในการปลูกสร้างบ้าน เหตุผลสำคัญ เพราะบางรายต้องเตรียมพร้อมในการนำเงินออมที่มีอยู่ไปประกอบธุรกิจ โดยลูกค้าจากสมาคมไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)
นอกจากนี้ ผลสำเร็จจากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ‘ล้านละหมื่น’ สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน มูลค่า 1 ล้าน หักลดหย่อน 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท (บ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท) นั้นที่จะสิ้นสุดในปีนี้ นายอนันต์กร กล่าวว่า ก็ช่วยได้บ้าง แต่ในมุมของตนแล้วควรที่จะขยายเพดานสูงสุดเป็น 5 แสนบาท (บ้านในราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท) น่าจะกระตุ้นได้มาก
นายอนันต์กร กล่าวถึงวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนสมาคมในวาระปี 2568-2570 ว่า ยังคงเป็นปีที่ต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง แต่จากวิสัยทัศน์ และภารกิจตามแผนงานที่วางไว้ ผู้บริโภคจะเกิดความรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง ในสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานจากบริษัทสมาชิกผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านมากขึ้น และยิ่งจะขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น เพิ่มสมาชิกสมาคม และรุกขยายไปตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนใน 3 ด้าน “B-Q-O” ซึ่งประกอบด้วย
B (Brand Awareness) การสร้างความรับรู้การทำงานของธุรกิจรับสร้างบ้าน สินค้าและบริการจากบริษัทสมาชิกเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกับธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ เช่น การสร้างบ้านพร้อมขายอย่างไร สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่งมอบคุณค่าสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง โดยการสื่อสารจะทำผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในการใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
Q (Quality) มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสมาชิก ด้วยการคัดเลือกบริษัทสมาชิกที่มีคุณภาพจากทั่วประเทศ ส่งต่อการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆ พัฒนางานด้านวิชาการ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น การสร้างคู่มือมาตรฐานการก่อสร้างกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำผลงานวิชาการเหล่านั้นมาปรับใช้ในเรื่องการก่อสร้างให้มีมาตรฐานคุณภาพของงาน และการส่งต่อการบริการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
O (Organization) การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอุตสาหกรรม รวมทั้งเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ การแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยในปีนี้ สมาชิกสมาคมจะเร่งรุกตลาดต่างจังหวัด สร้างการรับรู้ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งทางสมาคมวางเป้าที่จะมีมูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท ตัวเลขใกล้เคียงกับปี 2566