xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.10 ดอลลาร์อ่อนคลายกังวลนโยบายทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ม.ค.) ที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.05-34.30 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้าง จากรายงานข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจยังไม่รีบเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศต่างๆ ทันที แต่จะเริ่มประเมินความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ เช่น จีน แคนาดา และเม็กซิโกก่อน

นอกจากนี้ สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ย้ำจุดยืนลดราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต ยังได้กดดันราคาน้ำมันดิบ อีกทั้งลดความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำให้ล่าสุด ท่าทีของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ต่อนโยบายการค้าและพลังงาน ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เป็น 76% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลงของบรรดาผู้เล่นในตลาด) หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน (ZEW Economic Sentiment) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Netflix

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทจนหลุดโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า ทำให้เราต้องกลับมามองใหม่ว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following อีกทั้งในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวันของเงินบาท (USDTHB) ก็สะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปิดสถานะ Short THB เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดสถานะ Short THB มาพอสมควร หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 34.50 จนถึง โซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การปรับสถานะดังกล่าวอาจไม่ได้เร่งให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงในระยะสั้น

ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ความกังวลต่อนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0 ที่กดดันราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบ (Buy on Dip) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันเงินบาทได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน เพราะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย อาจช่วยหนุนเงินบาทให้ทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนี ZEW ของเยอรมนีและยูโรโซน ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และ ECB ทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น