xs
xsm
sm
md
lg

ใครลักลอบจำนำหุ้น...จับได้ติดคุก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตการบังคับขายหรือ FORCE SELL ยังคงปะทุไม่หยุดหย่อน จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องหยิบขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อออกหลักเกณฑ์ควบคุม ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่นำหุ้นไปจำนำขอสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้นหรือมาร์จิ้น

ก.ล.ต.ต้องพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายอะไรในการออกหลักเกณฑ์การจำนำหุ้น และผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนจะต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ จึงต้องรายงาน ซึ่งจะสรุปหลักเกณฑ์ในไตรมาสแรกปีนี้

ข้อบังคับสำคัญคือ เมื่อนำหุ้นไปจำนำเพื่อขอวงเงินมาร์จิ้นซื้อหุ้น หรือนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอเงินกู้ไปใช้อะไรก็ตาม จะต้องรายงานข้อมูลให้ ก.ล.ต.รับทราบ

ถ้าไม่รายงานจะถูกลงโทษทั้งปรับและจำคุก

รายละเอียดขั้นตอนรายงาน แม้ไม่กำหนดชัดเจน แต่น่าจะใช้รูปแบบเดียวกับการรายงานข้อมูลการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ของผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน โดยรายงานข้อมูลให้ก.ล.ต.ภายใน 3 วัน หลังเกิดธุรกรรมการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์

การออกหลักเกณฑ์รายงานข้อมูลจำนำหุ้นของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงมาก เพราะมีโทษทั้งปรับและจำคุก กรณีที่มีการจำนำหุ้นแล้วไม่แจ้งข้อมูลให้ ก.ล.ต. เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนผู้ลงทุน

แต่การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมีเป้าหมายเพื่อให้การรายงานข้อมูลจำนำหุ้นมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายรายแอบนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ หรือนอกเหนือจากธุรกรรมที่ทำกันในระบบตลาดทุน

นักลงทุนที่ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูล สุดท้ายต้องมารับเคราะห์ เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกบังคับขายหุ้น และทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงติดฟลอร์ 30% หลายวันติด ซึ่งเกิดขึ้นกับหุ้นนับสิบบริษัทในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลการจำนำหุ้นของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนมีความสำคัญมากต่อการพิจารณาตัดสินใจของนักลงทุน เพราะถ้ารู้ว่า ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใดนำหุ้นไปจำนำ นักลงทุนอาจหลีกเลี่ยงการลงทุนบริษัทจดทะเบียนแห่งนั้น

เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงจากผลกระทบการบังคับขายแล้ว การลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ลงมาเล่นหุ้นด้วย นักลงทุนรายย่อยย่อมเสียเปรียบ เพราะไม่มีข้อมูลวงในเท่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่

และการที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนเล่นหุ้น ยังสะท้อนถึงความไม่เคร่งครัดในหลักธรรมาภิบาลอีกด้วย

ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่ดี มีธรรมาภิบาล จะต้องไม่เล่นหุ้นตัวเอง แต่มุ่งมั่นทุมเทการทำงาน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น

ไม่หมกมุ่นกับการเล่นหุ้น มุ่งแสวงหาส่วนต่างจากราคาหุ้น จนถึงขั้นการสร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้นหรือปั่นหุ้นเสียเอง

การบังคับขายหุ้นที่ยังปะทุอยู่ ใครจะรู้บ้างว่า บางกรณีผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนอาจจงใจให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างภาพให้นักลงทุนทั่วไปเข้าใจว่า แม้แต่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ยังได้รับความเสียหายจากการที่หุ้นตก

ทั้งที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่อาจเทขายหุ้นในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้นสูงๆ ไปก่อนหน้า โกยกำไรมหาศาลไปแล้ว โดยขายหุ้นในส่วนที่ให้นอมินีหรือตัวแทนถือไว้ และอาจกลับมาซื้อคืนภายหลังที่ราคาหุ้นร่วงลงมาติดพื้น

การออกหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด ดุดัน มีบทลงโทษเด็ดขาด สำหรับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่ลักลอบแอบนำหุ้นไปจำนำโดยไม่แจ้งข้อมูลให้นักลงทุนรับรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน

ใครนำหุ้นไปจำนำแล้วไม่แจ้ง เอาให้หนักถึงขั้นติดคุกเลย

และ ก.ล.ต. กรุณาอย่าเห็นอกเห็นใจผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน อย่าคำนึงว่าจะได้รับผลกระทบจากการรายงานข้อมูลจำนำหุ้น

แต่ต้องตระหนักถึงนักลงทุนรายย่อยนับแสนๆ ราย ที่ขาดทุนยับเยินโดยไม่มีโอกาสตั้งตัว เพราะขายหุ้นทิ้งไม่ทัน เมื่อเกิดการบังคับขายหุ้นของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน

วิกฤตการบังคับขายเกิดขึ้นกับหุ้นนับสิบตัวแล้ว และยังไม่รู้ว่าหวยจะออกในหุ้นตัวไหนตามมาอีก นักลงทุนเตรียมเผ่นหนีให้ทันแล้วกัน ตั้งแต่ฟลอร์แรก








กำลังโหลดความคิดเห็น