ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2567 โดยธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายและมีกำไรสุทธิที่ 5,112 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวม 12 เดือน ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 21,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 12.9% หนุนโดยการควบคุมต้นทุนใน 3 ส่วนหลัก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายตั้งสำรอง ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย ขณะที่สภาพคล่องและฐานะเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 โดยรวมถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธนาคารทั้งในด้านรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ ทีทีบียังคงยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ และมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านต้นทุนและรายได้ให้สอดคล้องกัน พร้อมทั้งดูแลคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการบริหารส่วนทุน (Capital Management) เพื่อให้การใช้ส่วนทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น
สำหรับการบริหารต้นทุน ธนาคารให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การบริหารต้นทุนทางการเงินผ่านการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับโครงสร้างสินเชื่อให้มีความเหมาะสม การเติบโตเงินฝากให้สมดุลกับแนวโน้มด้านสินเชื่อ รวมถึงการปรับกลยุทธ์พอร์ตเงินลงทุนเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงิน
ในส่วนของต้นทุนการดำเนินงาน ธนาคารเน้นย้ำการมีวินัยด้านค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลและเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ในโมบายแอปพลิเคชัน เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการให้บริการมีแนวโน้มลดลง
และท้ายสุด คือ การควบคุมต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง โดยที่ผ่านมาธนาคารเน้นย้ำการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพและเน้นกลุ่มที่ธนาคารมีความชำนาญและเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็แก้ปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการตั้งหลัก โครงการคุณสู้เราช่วย รวมไปถึงโครงการรวบหนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ทีทีบีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการรวบหนี้แล้วกว่า 37,000 ราย เพิ่มขึ้นจากระดับ 17,000 ราย ณ สิ้นปี 2566 เทียบเท่ากับว่าธนาคารสามารถช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 2,100 ล้านบาท
จากการดำเนินการดังกล่าว สถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์จึงมีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง 5% จากปีก่อนหน้าและอัตราส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.59% จาก 2.62% ในปี 2566 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลง 11% จากปีก่อน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปี 2567 ทั้งนี้ แม้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองจะลดลง แต่อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 151%
ด้านสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 อยู่ที่ 1,241 พันล้านบาท ชะลอลง 1.0% และ 6.6% จากไตรมาส 3 (QoQ) และสิ้นปี 2566 (YTD) ตามลำดับ สอดคล้องกับแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ โดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามแผนการปรับโครงสร้างสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถแลกเงิน (+6% YTD) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (+12% YTD) สินเชื่อบุคคล (+10% YTD) และบัตรเครดิต (+7% YTD) ทั้งนี้ การลดลงของสินเชื่อรวมมีสาเหตุหลักจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดรถยนต์ที่ยังคงหดตัว รวมถึงการบริหารหนี้เสียเชิงรุกผ่านการขายและตัดหนี้สูญ ซึ่งทำให้ยอดหนี้เสียลดลง 5% YTD
ในด้านรายได้ ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,133 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,496 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2567 รวม 12 เดือน ปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 69,399 ล้านบาท ลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 (YoY) สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 29,571 ล้านบาท ลดลง 4.9% YoY ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในปี 2567 อยู่ที่ 42.6% ลดลงจาก 43.6% ในปีก่อนหน้า เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
ด้านค่าใช้จ่ายตั้งสำรองมีจำนวน 4,690 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2567 รวม 12 เดือน ปี 2567 ดำเนินการตั้งสำรองทั้งสิ้น 19,852 ล้านบาท ลดลง 10.6% YoY หลังจากหักสำรองและภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 และรอบ 12 เดือน ปี 2567 ที่ 5,112 ล้านบาท และ 21,031 ล้านบาท ตามลำดับ
ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 19.3% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 16.9% ยังคงสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% สำหรับ CAR และ 9.5% สำหรับ Tier 1
**Due Diligence บล.ธนชาต-ทีลิสซิ่ง**
นอกเหนือจากนั้น ธนาคารยังเดินหน้าตามแผนการบริหารส่วนทุนให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นปรับโครงสร้างส่วนทุนให้มีความเหมาะสม เช่น การไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 และลดขนาดการออกตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่สำคัญคือการบริหารการใช้เงินทุนส่วนเกิน (Excess Capital) ให้เกิดประโยชน์ผ่านหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอัตราเงินปันผลขึ้นมาแตะระดับ 60% เทียบกับระดับ 30-35% ในช่วงก่อนรวมกิจการ รวมถึงการสร้างโอกาสในการเติบโตผ่านการเข้าซื้อหุ้นในกิจการที่ส่งเสริมกัน โดยปัจจุบันธนาคารได้เข้าทำ Non-Binding MOU และอยู่ในขั้นตอนการทำ Due Diligence เพื่อพิจารณาการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตและบริษัท ที ลิสซิ่ง การดำเนินการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของธนาคารในการสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว