xs
xsm
sm
md
lg

"อนุสรณ์"ชี้ไทยมีโอกาสขึ้น Financial Hub ทศวรรษหน้าวางยุทธศาสตร์ให้ชัด เร่งจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า โอกาสของไทยในการก้าวสู่ศูนย์กลางทางการเงินของโลกอาจเกิดขึ้นได้ภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้าพร้อมกับการเดินหน้าสู่ประเทศรายได้สูงพัฒนาแล้ว ต้องใช้ความมุ่งมั่นดำเนินการอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย

เริ่มต้นต้องผลักดันให้มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการบริการการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมียุทธศาสตร์มีแนวทางชัดเจนในการพัฒนา "เงินบาท" ให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคเอเชีย ปฏิรูปและปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุน เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและภาคการลงทุน รวมทั้งระบบการเงินแบบกระจายศูนย์การเงินแบบดิจิทัล เตรียมพร้อมและพัฒนาบุคลากรทักษะขั้นสูงในภาคการเงินและการลงทุน ยกระดับและพัฒนาตลาดการเงินตลาดทุนของประเทศสู่มาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนด้วยมาตรฐานธรรมาภิบาลสากล ระบบการเงินและการลงทุนที่โปร่งใสจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั่วโลก

ส่วน ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางกฎระเบียบพัฒนาระบบนิเวศต่อการประกอบธุรกิจทางการเงินและการลงทุนใน Financial Hub ที่จะช่วยสนับสนุนให้ "ไทย" พัฒนาสู่ศูนย์กลางทางการเงินในอนาคตได้ โดย "ไทย" มีข้อได้เปรียบในส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ค่าเช่า ค่าครองชีพถูก เมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของโลกอย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ลอสแอนเจลีส โตเกียว ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือ ดูไบ

ไทยมีข้อจำกัดที่ยังคงต้องพัฒนาทักษะแรงงานคุณภาพสูงทางด้านการเงินและการลงทุนให้เพียงพอ หรืออาจใช้วิธีเปิดกว้างในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จากต่างประเทศมาทำงานในไทย รวมทั้งการลงทุนเพิ่มเติมทางด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบเทคโนโลยี ระบบการชำระเงิน ระบบธรรมาภิบาล ที่สามารถเทียบกับมาตรฐานของศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกได้ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องออกแบบสิทธิประโยชน์ให้จูงใจสถาบันการเงินระดับโลก

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นเฉพาะหน้า รัฐบาลไฮทยต้องจัดการกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงทางไซเบอร์ การหลอกหลวงทางการเงินผ่านขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนทั้งเมียนมา กัมพูชาและลาว ในช่วงสามปีที่ผ่านมาสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 70,000-80,000 ล้านบาท มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้ "สถาบันการเงิน" และ "บริษัทบริการโทรคมนาคม"ร่วมรับผิดชอบความเสียหายทางการเงินกรณีถูกหลอกลวงจากอาชญากรทางไซเบอร์ การแก้กฎหมายดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินและบริษัทบริการโทรคมนาคมลงทุนเพื่อพัฒนาระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีประสิทธิภาพในการติดตามทรัพย์สินทางการเงินที่ถูกหลอกลวง ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุน หากไม่มีความมั่นใจต่อระบบความมั่นคงปลอดภัยของระบบการเงิน ย่อมไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้

สิ่งเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การสั่งการให้ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" "ก.ล.ต." "ตลาดหลักทรัพย์" และ "บริษัทบริการโทรคมนาคม"เข้ามาร่วมจัดการระบบป้องกันการหลอกลวงและทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุนอย่างผิดกฎหมาย ผ่านระบบธนาคาร สถาบันการเงินและสถาบันการลงทุนต่างๆ และ ต้องกำหนดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง ระบบสถาบันการเงิน กิจการบริการโทรคมนาคม เพื่อกำหนดความรับผิดชอบร่วมกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันความเสียหายทางทรัพย์สินทางการเงินของประชาชนผู้เป็นเป้าหมายของการหลอกลวง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราเลขสองหลักคือร้อยละ 13.2 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันได้แก่ เกาหลีใต้ (ร้อยละ11.3) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 11.0) นอกจากนี้จากตัวเลขในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เศรษฐกิจไทยก็มีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 12.2 ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราของประเทศอื่นๆ ของโลก ที่สำคัญก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักษาระดับอัตราความเจริญเติบโตให้อยู่ในระดับเลขสองหลักได้ (ประเทศที่ขยายตัวเร็วรองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์) โดยที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่า ถึงแม้ว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN-4 ยังเติบโตในเกณฑ์ที่สูงและน่าพึงพอใจ

แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ อัตราการเติบโตในกลุ่ม Asian NIEs มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างชัดเจนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฮ่องกง และเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราลดลงจากร้อยละ 7.3 และ 11.3 ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) เป็นร้อยละ 2.5 และ 6.7 ในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) ตามลำดับ กลุ่มประเทศ ASEAN-4 ยังคงก้าวต่อไป ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 โดยที่หลายฝ่ายมองว่าไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่รายต่อไปในเอเชีย

การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุน การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนและไทย การส่งออกเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของไทย ปัจจัยดังกล่าวเองทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีลักษณะเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ประเทศไทยเผชิญปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพยปัญหาหนี้เสียและความไม่โปร่งใสในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนปัญหาการส่งออกจากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากการแข็งค่าของเงินบาทอันนำมาสู่วิกฤตการณ์เงินตราและวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากผู้ดำเนินนโยบายการเงินยึดมั่นถือมั่นต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน (แบบคงที่) ทั้งที่ระบบนี้ไม่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว กระทบความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกของไทยในตลาดโลก นอกจากนี้การลงทุนอย่างมหาศาลในประเทศก่อให้เกิดการผลิตต่ำกว่าความสามารถมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือจำนวนมาก (Overcapacity) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุน ที่ล้นเกิน (Overinvestment) ในช่วงเศรษฐกิจเติบโตสูง และสิ่งนี้คงถึงจุดสิ้นสุดและชะลอตัวในที่สุด

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยเคยฝันว่า เราจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคก่อนวิกฤติปี 2540 แต่เราไปไม่ถึงเป้าหมายเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินขึ้นมาก่อน ทุกอย่างจึงสดุดลง หากเราสามารถเรียนรู้จากบทเรียนจากความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายการเงินก่อนวิกฤตปี 40 ได้ดีพอและปิดจุดอ่อนให้ได้ทั้งหมด

เป้าหมายในการก้าวสู่ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินฝัน บทเรียนที่เราสามารถสรุปได้จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี พ.ศ. 2540 ประกอบไปด้วย

1.การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหาหากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น ทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใสไม่ดีพอ

2.ผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่ยืดหยุ่น ยึดมั่นถือมั่นต่อการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มากเกินไปทั้งที่ระบบนี้ต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่การเห็นสัญญาณจากการขาดดุลบัญชีสะพัดจำนวนมหาศาล ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป เช่นเดียวกับในขณะนี้ที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินใช้มาตรการการเงินเข้มงวดเกินไปในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำถือเป็นการขาดการยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนวิกฤติปี 2540

3.การเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมากทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลงอัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เพิ่มจากระดับต่ำกว่า 1 ในปี พ.ศ. 2533 สูงขึ้นจนถึงระดับ 1.35 เมื่อสิ้นไตรมาสสองของปี พ.ศ. 2538

4. ช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนและการลงทุนเกินตัวทำให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ

5. การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นและดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นในรูปเงินกู้ระยะสั้น

6.สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูงในช่วงก่อนเกิดวิกฤติผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไรทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมากจนเกิดปัญหาฟองสบู่

7. ขาดเสถียรภาพทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยหลังการรัฐประหารปี 2534 การผสานนโยบายการคลังและการเงินเพื่อหยุดยั้งภาวะฟองสบู่ไม่มีประสิทธิผเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานเป็นเป้าหมายของนักเก็งกำไรในการโจมตีค่าเงิน และยังมีความผิดผลาดในการปกป้องค่าเงินบาท การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2540 การปกป้องค่าเงินบาทที่ผิดผลาดและไม่เท่าทันต่อเกมการเงินโลกทำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในที่สุดต้องถูกตลาดการเงินกดดันให้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค. 2540

9.ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อมีสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

10.เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะบรรเทาลงและไม่เป็นเป้าถูกโจมตีค่าเงินก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้าเพื่อชดเชยการขาดดุลได้

11.การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้นมิใช่มาจากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิตประเทศไทยยังมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อ่อนมากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วและปัจจุบันก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียด้วยกันทั้งในแง่ของจำนวนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนนักวิจัย งบประมาณเพื่อการวิจัย

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ (DEIIT-UTTC) ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯดีเกินคาด ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเร็วๆนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นไปตามคาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย มีผลทำให้ "เงินดอลลาร์" ชะลอแข็งค่าเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีลดลงต่ำกว่า 4.7% ผลกำไรไตรมาสสี่ของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯสูงกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น CitiGroup, JP Morgan Chase, Blackrock, Well Fargo, Goldman Sachs เป็นต้นแนวโน้มดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อไปได้ หากการลดดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาชะลอยาวบาทอาจอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ส่งออกไทยเร่งตัวก่อนสงครามการค้าเปิดฉากเต็มที่โดยการส่งออกของสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ โซลาร์เซลล์อาจเร่งตัวขึ้นก่อนจะมีการปรับเพิ่มกำแพงภาษี แต่ทั้งปีแล้วสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากการปรับภาษีนำเข้าอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ปี พ.ศ. 2568 ยังคงเป็นปีทองของการส่งออกอาหาร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่องจากปีที่แล้วมีผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอาจชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและเคมีภัณฑ์น่าจะขยายตัวได้ดี ทำให้อัตราการขยายตัวส่งออกทั้งปีน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2.5% คิดเป็นมูลค่าส่งออกทั้งปีไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์


กำลังโหลดความคิดเห็น