xs
xsm
sm
md
lg

MASTER...หุ้นต้องสงสัย FORCE SELL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตการบังคับขาย หรือ FORCE SELL หุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ยังไม่ทันจางหาย หุ้นบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ก็ตามมาอีก ราคาร่วงติดต่อ 5 วันทำการ และลงไปแตะฟลอร์ หรือติดพื้น 30% อยู่ช่วงหนึ่ง จนเกิดความคาดหมายว่าอาจตกเป็นเหยื่อการบังคับขายรายล่าสุด

MASTER จัดอยู่ในหุ้นร้อน มีการซื้อขายที่คึกคัก ติดอยู่ในหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรกในตลาด MAI เป็นประจำ ก่อนย้ายเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา MASTER ปิดการซื้อขายที่ราคา 48 บาท แต่หลังจากนั้นปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 16 มกราคม ช่วงแรกราคาทรุดลงไปติดฟลอร์ที่ 28.25 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อลากราคาขึ้นมา จนปิดซื้อขายที่ 32.25 บาท ลดลง 8 บาท หรือลดลง 19.88% มูลค่าซื้อขายหนาแน่น 2,759.81 ล้านบาท

วันที่ 17 มกราคม MASTER ยังถูกถล่มขายต่อ โดยราคาทรุดลงไปลึกถึง 24.80 บาท ก่อนมีแรงซื้อเข้ามาพยุงราคา จนปิดซื้อขายที่ 29.50 บาท ลดลง 2.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,204.04 ล้านบาท

ข่าวลือการถูกบังคับขายตามมาทันที เพราะมีหุ้น MASTER ที่ถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้น จำนวน 27 ล้านหุ้น หรือประมาณ 9% ของทุนจดทะเบียน

และในวันที่ 16 มกราคม ยังมีรายการซื้อขายรายใหญ่ หรือบิ๊กล็อตหุ้น MASTER จำนวน 11 ล้านหุ้น ในราคา 37 บาท ซึ่งมีการชี้แจงจากฝ่ายบริหารบริษัทว่า เป็นการขายหุ้นของหมอระวีวัฒน์ มาศฉลาดล ให้ 4 กองทุนต่างประเทศ ในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งต้องการลงทุนระยะยาว และมีข้อตกลงห้ามขายหุ้นระยะเวลา 6-12 เดือน

นอกจากนั้น ยังยืนยันว่า หมอระวีวัฒน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 49.22% ของทุนจดทะเบียน ไม่เคยนำหุ้นไปจำนำ

การปฏิเสธจำนำหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ได้ช่วยกู้วิกฤตการถล่มขายหุ้น MASTER แต่อย่างใด แรงขายยังไหลทะลักเข้ามาในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม จนฝ่ายซื้อต้องตั้งรับอย่างหนัก และสามารถพยุงราคาไม่ให้เกิดความผันผวนรุนแรง

เพราะถ้าปล่อยให้ราคาหุ้น MASTER ดิ่งลงเหวลึกต่อไป อาจจุดชนวนความตื่นตระหนกของนักลงทุน และเกิดการเทขายอีกระลอกใหญ่ตามมา จนฝ่ายซื้อที่พยายามพยุงราคา รับมือไม่อยู่ และกดดันให้เกิดการบังคับขายเพิ่มขึ้นอีก

หุ้น MASTER รอบนี้ลงมาลึกมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า รอบขาลงปิดฉากลงแล้ว เพราะจะต้องรอดูกันต่อว่า ราคาตั้งหลักได้หรือยัง แรงขายที่ไม่รู้ว่าเกิดจากการบังคับขายหรือไม่หมดหรือยัง

ในทางพื้นฐาน MASTER ไม่มีความโดดเด่นมากนัก แม้ผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องก็ตาม โดยปี 2565 มีกำไรสุทธิ 300.92 บาท ปี 2566 กำไรสุทธิ 416.30 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 2567 กำไรสุทธิ 303.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 252.85 ล้านบาท

ค่าพี/อี เรโช MASTER อยู่ที่ประมาณ 19 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนต่ำมากเพียง 0.08% เท่านั้น

จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย MASTER หลังปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 20 มีนาคม 2567 มีทั้งสิ้น 3,316 ราย เพิ่มขึ้นจากการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 16 มีนาคม 2566 ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 2,233 ราย

ถ้าดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 13 รายแรกของ MASTER บางคนอาจขนหัวลุก เพราะมีนักลงทุนขาใหญ่สิงสถิตอยู่มากหน้าหลายตา จนน่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า

มีนักลงทุนขาใหญ่สุมกันอยู่ที่บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ มีหุ้นถูกนำไปจำนำถึง 9% ของทุนจดทะเบียน

นักลงทุนรายย่อยเข้าไปทำอะไรกันในหุ้น MASTER สู้บรรดา "ขาใหญ่" ได้หรือ

และทนแบกรับความเจ็บปวดเพราะขาดทุนป่นปี้ได้ไหม เมื่อขาใหญ่ถูกบังคับขายหุ้น








กำลังโหลดความคิดเห็น