ธนาคารกรุงไทย จัดงานสัมมนา “CIO Forum 2025 : Reshaping Investment Paradigm” เปิดมุมมอง เศรษฐกิจ และการลงทุนแบบเจาะลึก ทั้งทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ความท้าทายจากสถานการณ์การค้าโลก และพัฒนาการของเทคโนโลยี AI พร้อมกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน สร้างความมั่นคงทางการเงิน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะเติบโต 2.3-3.3% จากแรงขับเคลื่อนรายจ่ายภาครัฐ อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวจากการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายของทรัมป์ที่จะยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ผลักดันให้ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เป็นปีที่มีความท้าทายจากหลายด้าน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์จีดีพีเติบโต 2.4-2.9% ขณะที่ Krungthai COMPASS คาดการณ์ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ หรือบางสำนักต่างประเทศมองในระดับแค่ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และความเสี่ยงจากนอกประเทศโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังคือ Trade war 2.0 และสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามา ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งหากมองไปข้างหน้า ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองจีดีพีไทยเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ 2.7% ดังนั้น ทิศทางเงินลงทุนยังไหลออก
ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังมีความท้าทายจากสินเชื่อโตต่ำ รวมถึงคุณภาพหนี้ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กลุ่มผู้ประกอบการรายกลาง-รายย่อยที่ยังปรับตัวไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ภาคการธนาคารได้ร่วมกับภาครัฐในการแก้ปัญหาในการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' ที่เพิ่งออกไป ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวได้สะท้อนออกมาที่ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่สะท้อนถึงความเปราะบางจากมุมมองของนักลงทุนที่มี Price to Book Ratio (P/B)อยู่ที่ 0.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 1 เท่าต่อเนื่อง รวมถึงประมาณ 60% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มี P/B Ratio ที่ต่ำกว่า 1 เท่าเช่นกัน ขณะที่มองไปข้างหน้าประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงขึ้นจากหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สังคมสูงวัย เศรษฐกิจนอกระบบสูง หนี้ครัวเรือนสูง และหนี้สาธารณะที่สูง ซึ่งจะนำไปสู่จุดหรือ Inflection Point ของไทย
**ชี้ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยเศรษฐกิจฟื้น**
สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น นายผยง กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% ในสถานการณ์นี้ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น สิ่งจำเป็นคือภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตัวเองโดยการนำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุน การปรับเปลี่ยนระบบตามพฤติกรรมลูกค้า เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น โอกาสที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยน่าจะยากขึ้น เพราะมองว่าในขณะที่ความไม่แน่นอนสูงเราต้องมีสานป่านที่ยาว มี Policy Space การจะเทหมดหน้าตักต้องดูว่าเหมาะสมกับศักยภาพของเราหรือไม่
นายอาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยทิศทางของสงครามการค้าว่า สงครามการค้ารอบใหม่ หรือ Trade War 2.0 แตกต่างจาก Trade War รอบแรก โดยทรัมป์มีแนวโน้มจะกีดกันทางการค้ากับทุกประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย ต่างจากรอบแรกที่เน้นการเก็บภาษีไปที่จีน
ด้านนายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมในประเด็นสงครามการค้าว่า การที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า มีสาเหตุมาจากการที่สงครามการค้ารอบแรกที่มุ่งเน้นเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเป็นหลักนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียกับจีนมากเท่าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ จากการที่จีนมีการ Relocation การผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่งผลดีกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไปด้วย ดังนั้น สงครามการค้ารอบนี้มีโอกาสที่ทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศคู่ค้า และทำให้ผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและคู่ค้าหลักอาจสูงกว่าในรอบก่อน
นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting ให้มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ว่า เป็นการปฏิวัติยุคใหม่ โดยเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการกำเนิดของระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม และการปฏิวัติ AI นี้ต่างจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งก่อนๆ ที่เป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ AI นั้นมาพร้อมกับการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ นายประมุข มาลาสิทธิ์ Head of Chief Investment Office ธนาคารกรุงไทย และ Mr. Matthew Quaife Global Head of Multi Asset Investment Management จาก Fidelity International ได้ให้มุมมองการลงทุน ปี 2568 โดยมี 6 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น เงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคที่แตกต่าง ความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ที่กลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบาง และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน
**มองตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง**
ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2568 นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่การปรับขึ้นในรอบนี้จะขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ และแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น สำหรับตลาดเกิดใหม่ เห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีน และอินเดีย ด้านตราสารหนี้ มีมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) บอนด์ยิลด์ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ตราสารหนี้ High Yield ของสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนยุโรปยังน่าสนใจ ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ มองว่าราคาทองคำจะสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกรอบ มีปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางตลาดเกิดใหม่ และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่งตลอดปี 2568