xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. ปรับหลักเกณฑ์กองทุนรวม-กองทุนส่วนบุคคล ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (DA)* เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการให้บริการการลงทุนในต่างประเทศแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และเพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ผ่านผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนใน DA ของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล (กองทุน) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่างประเภทธุรกิจและเพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ของผู้ลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการลงทุนให้แก่ บลจ. โดย ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเมื่อเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการและร่างประกาศดังกล่าว

ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 ฉบับ** โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) เพิ่มให้ investment token เป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ โดยมีอัตราส่วนการลงทุนเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ (transferable securities) เช่น หุ้น และหุ้นกู้ เป็นต้น เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายกัน

(2) เพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุนสามารถลงทุนใน crypto asset ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับประเภทผู้ลงทุน โดยกองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ*** สามารถลงทุนใน crypto ETF ได้โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุน เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่าง บล. และ บลจ. รวมทั้งสามารถลงทุนโดยตรงใน crypto asset โดยจำกัดสัดส่วนการลงทุนไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)

ในขณะที่กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย**** ที่จัดตั้งขึ้นใหม่และมีกลยุทธ์ active management ประเภทกองทุนรวมผสม กองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก สามารถมีเงินลงทุนใน crypto asset รวมทั้งหมด (total crypto asset exposure) ผ่าน ETF หรือกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 5 ของ NAV เพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรสินทรัพย์ (asset allocation) ผ่านผู้เชี่ยวชาญ

(3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการสำหรับกองทุนที่ลงทุนใน DA เช่น การเก็บรักษาทรัพย์สิน การเปิดเผยข้อมูล การโฆษณา และการปรับปรุงแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test) ให้ครอบคลุมการลงทุนใน crypto asset เป็นต้น

ทั้งนี้ ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568 สำหรับกองทุนที่ลงทุนใน DA ตามหลักเกณฑ์ก่อนวันที่ประกาศใหม่มีผลใช้บังคับ ให้ปฏิบัติตามประกาศใหม่ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศใหม่มีผลใช้บังคับ

หมายเหตุ :

* สินทรัพย์ดิจิทัล (DA) หมายถึง

(1) investment token และ (2) crypto asset ได้แก่ (2.1) cryptocurrency ประเภทที่มีกลไกการคงมูลค่า (stablecoin) เช่น Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ออกโดยธนาคารกลาง เป็นต้น และ cryptocurrency ประเภทที่ไม่มีกลไกการคงมูลค่า (blank coin) เช่น Bitcoin เป็นต้น

(2.2) utility token ที่ไม่ใช่อุปโภคบริโภค มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน การลงทุน และการเก็งกำไรคล้ายกับผลิตภัณฑ์ในตลาดเงินตลาดทุน (financial product) เช่น native token, governance token เป็นต้น

** ประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 ฉบับ ดังนี้

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 47/2567 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 29) และภาคผนวก 1 ภาคผนวก 2 ภาคผนวก 3 ภาคผนวก 4-retail MF ภาคผนวก 4-AI ภาคผนวก 4-UI ภาคผนวก 4-PF และภาคผนวก 5 แนบท้ายประกาศนี้

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 50/2567 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 17)

(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 48/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 7)

(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 49/2567 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงานและการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 18)

(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 48/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(6) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 40/2567 เรื่อง รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ 6)

(7) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 41/2567 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (ฉบับที่ 6) และภาคผนวก 1 และภาคผนวก 3 แนบท้ายประกาศนี้ รวมทั้งแบบ 123-1 พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติม

(8) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 42/2567 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ฉบับที่ 8) รวมทั้งแบบ 123-1 (UI) พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติม

(9) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 43/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 11)

(10) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 44/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้ (ฉบับที่ 7)

(11) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 45/2567 เรื่อง การพิจารณาใช้ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (ฉบับที่ 2)

(12) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 46/2567 เรื่อง การยกเว้นการถือครองคริปโทแอสเซ็ทของกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในคริปโทแอสเซ็ทหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน

(13) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 47/2567 เรื่อง การขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2)

*** กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ หมายถึง

(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI fund)

(2) กองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (non-retail PF) ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW)

**** กองทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย หมายถึง
(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail-MF)
(2) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (AI fund)
(3) กองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (retail PF) ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป เช่น ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ผู้ลงทุนทั่วไป (retail investor) เป็นต้น