วิกฤตการบังคับขาย หรือ FORCE SEL หุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ยังไม่ได้ปิดฉากลงเสียทีเดียว และไม่เฉพาะนักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่ต้องเซ่นสังเวย
แต่บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์หลายแห่ง ที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้นหรือมาร์จิ้นให้นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ RS ก็กระอักเลือกไปตามๆ กัน โดยบางรายเสียหายนับร้อยล้านบาท จนส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR)
ปัญหาการบังคับขายหุ้นที่กำลังปะทุ สร้างแรงสั่นสะเทือนกับหุ้นรายตัวเป็นลูกโซ่ และส่งผลกระทบลุกลามบานปลาย ไม่เฉพาะหุ้นที่เจ้าของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกบังคับขาย จนราคาทรุดติดฟลอร์ 30% เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ความเชื่อไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโบรกเกอร์เกือบทั้งระบบ
ความเสียหายจากหนี้เสียจากการปล่อยมาร์จิ้น ไม่อาจประเมินได้ว่า โบรกเกอร์แห่งใดโดนไปเท่าไหร่ กระทบต่อ NCR ขนาดไหน และมีปัญหาฐานะทางการเงินตามมาหรือไม่
มาร์จิ้นเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ของโบรกเกอร์ จากดอกเบี้ยลูกค้าที่ใช้มาร์จิ้น ซึ่งช่วยทดแทนรายได้ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นที่หดหาย ตามมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ลดลง
แต่การปล่อยมาร์จิ้นมีความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ซึ่งจะต้องตามฟ้องร้องบังคับเรียกหนี้จากลูกค้า ซึ่งไม่มีโบรกเกอร์ใดอยากเป็นคดีกับลูกค้า โบรกเกอร์จึงเข้มงวดในการปล่อยมาร์จิ้น
โบรกเกอร์บางแห่งบุกทะลุทะลวงปล่อยมาร์จิ้น บางแห่งยินดีที่ยอดปล่อยมาร์จิ้นทะลุ 10,000 ล้านบาท แต่ภายหลังเกิดปัญหา จนต้องประกาศปิดให้บริการมาร์จิ้น เช่นบริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Z.COM โดยปิดบริการมาร์จิ้นตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังปล่อยมาร์จิ้นอยู่ เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวัง รวมทั้งการควบคุมความเสี่ยงของลูกค้าที่ซื้อขายหุ้น โดยกำหนดให้เปิดซื้อขายด้วยบัญชี แคช บาลานซ์ ซึ่งจะต้องวางเงินสดก่อนสั่งซื้อหุ้น
เพราะการให้ลูกค้าซื้อขายด้วยเงินสดตามปกติ ระบบ T+2 ในภาวะที่หุ้นมีความผันผวนรุนแรง อาจมีปัญหาได้ เพราะหากราคาหุ้นปรับตัวลงหนัก ลูกค้าอาจปฏิเสธการชำระค่าหุ้นที่สั่งซื้อ และเป็นคดีฟ้องร้องตามมาอีก
วิกฤตมาร์จิ้น และวิกฤตตลาดหุ้น นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจกัน ระหว่างนักลงทุนซึ่งเป็นลูกค้า และโบรกเกอร์ซึ่งเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้น
โบรกเกอร์กลัวหนี้มาร์จิ้นเสีย และกลัวลูกค้าไม่ชำระค่าหุ้นที่สั่งซื้อ แต่นักลงทุนก็กลัวโบรกเกอร์มีปัญหาฐานะการเงิน จากผลกระทบหนี้เสียมาร์จิ้นเหมือนกัน
เพราะเงินสดที่ไว้ไว้กับโบรกเกอร์ อาจไม่ได้รับคืนทันทีที่ต้องการ หรือหุ้นที่สั่งขาย อาจไม่ได้รับการชำระค่าขายหุ้น หากโบรกเกอร์เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
นักลงทุนรายใหญ่บางคนย้ายพอร์ตตัวเองไปสู่โบรกเกอร์แห่งใหม่ที่มั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาฐานะทางการเงิน
นักลงทุนบางส่วนเลือกลดความเสี่ยง โดยขายหุ้นออก นำเงินสดที่วางไว้กับโบรกเกอร์ถอนออกมา และหยุดการซื้อขาย ซึ่งซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นเงียบเหงาหนักขึ้น เพราะมูลค่าซื้อขายหุ้นลดลง เหลือระดับวันละ 3-4 หมื่นล้านบาท
โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ต้องแบกขาดทุนในทุกวันนี้ เพราะมูลค่าซื้อขายระดับ 3-4 หมื่นล้านบาท ทำให้อยู่ยาก ยิ่งเจอหนี้เสียมาร์จิ้นซ้ำเติม แทบจะล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง
มาร์จิ้น RS ที่ปล่อยให้เฮียฮ้อ หรือนายสุรชัย กำลังพ่นพิษใส่โบรกเกอร์หลายเบอร์ และบางแห่งอาจถึงขั้นฐานะง่อนแง่น
โบรกเกอร์ใดกระอักเลือดหนักขนาดไหน โบรกเกอร์ใดถูกลูกค้าปิดบัญชีหนี ถ้าอยากรู้ สามารถตรวจสอบได้จากมูลค่าซื้อขายหุ้นที่ลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงนี้
และโบรกเกอร์ที่วอลุ่มซื้อขายหดหายอย่างน่าตกใจ กำลังนำไปสู่คำถามว่า รอบนี้จะรอดจากพิษหนี้เน่ามาร์จิ้น RS หรือไม่