xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มโรงพยาบาล” รับปัจจัยลบช่วงสั้น ประกันฯ ปรับค่ารักษา-เชื่อแพทย์เฉพาะทางหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานประกันสังคม ประกาศปรับลดอัตราค่ารักษาพยาบาลช่วงไตรมาส 4 ปี 67 จากอัตรามาตรฐาน 12,000 บาท/Adj.RW เหลือ 7,200 บาท/Adj.RW เนื่องจากงบประมาณค่ารักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ก่อนเห็นชอบให้คงที่ตัวเลขเดิม และจะปรับลดปลายปีนี้ โบรกฯ มองโรงพยาบาลหลายแห่งได้รับผลกระทบต่อเชิงลบต่อรายได้ช่วง 2-3 เดือน เชื่อระยะยาวผลงานยังเติบโต เหตุโรงพยาบาลแต่ละแห่งเน้นบริการทางการแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ยก BDMS , PR9 ,BCH , และ EKH เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม

เมื่อไตรมาส 4 ปี 67 สำนักงานประกันสังคม ประกาศปรับลดอัตราค่ารักษาพยาบาลไตรมาส 4 ปี 67 จากอัตรามาตรฐาน 12,000 บาท/Adj.RW เหลือ 7,200 บาท/Adj.RW และเมื่อ 12 ธ.ค.67 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบจ่ายอัตราค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนคงที่ 12,000 บาท/AdjRW แต่ปลายปีจะเหลือที่ 7,000-8,000 บาท/AdjRW ทำให้กระทบต่อการรักษาพยาบาลและรายได้ของ รพ.คู่สัญญา เพราะมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคอ้วนเข้ามา ซึ่งหากลดค่ารักษาตรงนี้ไปได้อย่างเหมาะสม ก็จะนำไปทบกับงบประมาณเพิ่มได้

โดยมาตรการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเอกชน บางแห่งอาจถือเป็นปัจจัยบวกและหลายแห่งกลายเป็นปัจจัยลบ ขณะโบรกเกอร์มองว่าหุ้นกลุ่มการแพทย์หรือโรงพยาบาลยังคงเป็นหุ้นที่น่าลงทุนและมีอนาคต

 บล.ทิสโก้ ประเมินหุ้นกลุ่ม HEALTHCARE  หลังจากระบบประกันสังคม 2.0 และการย้อนกลับของรายได้อีกครั้ง และไม่เป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลประกันสังคม เนื่องจากเรื่องเกี่ยวกับประกันสังคม (SSO) เพราะมี 2 เรื่องเกิดขึ้นคือคณะกรรมการการแพทย์ของ SSO ได้อนุมัติอัตราการชำระเงินที่รับประกันที่ 12,000 บาทต่อ RW ที่ปรับแล้วสำหรับบริการการดูแลที่มีค่าใช้จ่ายสูงในปี 2568 แต่สัญญาปี 2567 ยังคงผูกพันกับงบประมาณของ SSO ซึ่งหมายความว่าจะเห็นการขาดงบประมาณและการย้อนกลับของรายได้ในปี 2568 แต่ไม่มีในปี 2569

และ SSO วางแผนที่จะออกแบบผลประโยชน์และเงินสมทบใหม่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่มผลประโยชน์สามรอบระหว่างปี 2568-2574 อัตราเงินสมทบจะคงเดิม แต่เพดานรายได้จะเพิ่มจาก 15,000 บาท เป็น 17,500-23,000 บาท เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ที่มากขึ้น

บล.ทิสโก้มองว่าการอัปเดตทั้งสองเรื่องส่งผลกระทบในเชิงลบต่อ BCH, CHG และ RAM โดยเฉพาะการย้อนกลับของรายได้ CHGน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามมาด้วย BCH และ RAM ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การย้อนกลับนี้อาจสร้างความเสี่ยงด้านdownside ต่อกำไรปี 2568 ของ CHG, BCH และ RAM ประมาณ 10%, 9% และ 3% ตามลำดับ นอกจากนี้ การปฏิรูประบบผลประโยชน์และเงินสมทบของ SSO อาจสร้างความเสียหายมากกว่าผลดีต่อกองทุน SSO แม้ว่าการประเมินมูลค่าจะดูน่าดึงดูดมากขึ้น แต่ยังเห็นว่ายังคงมีแรงกดดันต่อราคาหุ้นในระยะสั้น และยังคงการจัดอันดับและมูลค่าที่เหมาะสม โดยมีหุ้นแนะนำคือ BDMS และ PR9 เนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงและมาร์จิ้นที่กว้างขึ้น ทั้งนี้คงคำแนะนำ “ซื้อ ” สำหรับ BDMS และ PR9 โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 37.00 และ 29.60 บาท ตามลำดับ

การที่ CHG น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการย้อนกลับของรายได้การดูแลที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการวิเคราะห์ความอ่อนไหว เนื่องจากมีรายได้จากการดูแลที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากที่สุด ในทางกลับกัน RAM น่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากบันทึกรายได้อย่างระมัดระวังที่ 10,800 บาท/RW ที่ปรับแล้ว ขณะที่ BCH / CHG บันทึกที่อัตราเต็ม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดผลกระทบอาจยาวนานถึง 7 เดือน สร้างความเสี่ยงด้าน downside ต่อกำไรปี 2568 ของCHG, BCH และ RAM ประมาณ 10%, 9% และ 3% ตามลำดับ

โดย บล.ทิสโก้ มองว่าการปฏิรูป SSO แรงกดดันต่อกองทุนและโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพทางการเงินของกองทุนและโรงพยาบาลเอกชน แม้ว่าผู้ประกันตนทั้งหมดจะได้รับประโยชน์จากแผนที่ปรับปรุงใหม่ แต่มีน้อยกว่าหนึ่งในสามที่จะสมทบเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย สำหรับโรงพยาบาลเอกชน การปฏิรูปนี้ไม่ได้ให้การชดเชยหรือผลประโยชน์การรักษาเพิ่ม ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอาจถูกจำกัดเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในส่วนอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มการชดเชยที่ช้าลง การอนุมัติการเรียกร้องที่เข้มงวดขึ้น และการลดความคุ้มครองการรักษา ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มต่อรายได้และมาร์จิ้นของโรงพยาบาล

 บล.เคจีไอ ประเมินกลุ่ม Healthcare Sector คำแนะนำ "Overweight" เพราะกำไรไตรมาส 3 สูงที่สุดในรอบปีนี้หลังจากที่กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาอยู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2566 ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่วนใหญ่น่าจะแข็งแกร่งต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปีนี้ เพราะตามปกติแล้วกำไรในไตรมาส 3 มักจะสูงที่สุดในรอบปี(อย่างที่พบช่วงปีก่อนโควิดระบาด) คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาสจะเพิ่มขึ้นทั้งเทียบปีและไตรมาส โดยได้แรงสนับสนุนจากปัจจัยฤดูกาล (เช่น ฤดูฝน, การกลับมาของผู้ป่วยต่างชาติ) นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนยังจะได้อานิสงส์จากจำนวนผู้ป่วยที่มี intensity สูงเพิ่มขึ้น, การประหยัดต่อขนาดจากการที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และการที่สามารถคุมค่าใช้จ่าย SG&A ได้ดี


ดังนั้น คาดว่ากำไรในไตรมาส 4 ปี 2567 จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาสก่อน คาดว่าผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะลดลงในไตรมาส 4 แต่กำไรของโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบไตรมาสก่อน เมื่ออิงจากผลการดำเนินงานในปีที่แล้ว นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยหนุนแนวโน้มการเติบโตของกำไรในระยะยาวได้อานิสงส์จากการใช้งานสินทรัพย์ เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างต้นทุนของโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงคาดว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะได้โมเมนตัมเชิงบวกจากการที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของต้นทุนคงที่ (อุปกรณ์การแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มี intensity สูง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บล.เคจีไอ มองแนวโน้มการเติบโตปี 2567-2568F ยังคงเหมือนเดิมคือมองบวกกับแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งเน้นบริการทางการแพทย์ที่เฉพาะทางมากขึ้น ,ภาวะสังคมสูงวัยของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า และและความสามารถในการแข่งขันของโรงพยาบาลชั้นนำ ทั้งในเชิงคุณภาพการบริการ และ ค่าบริการสำหรับผู้ป่วยต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่ออิงตามประมาณการกำไรในปัจจุบันของบริษัทในกลุ่มนี้ที่ บล.เคจีไอ ศึกษาอยู่คาดว่ากำไรสุทธิรวมปี 2567 จะอยู่ที่ 2.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 10.2% และ ในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.88หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อน

ขณะที่สถานะทางการเงินแข็งแกร่งหลังจากที่ โควิด-19 ผ่านไปแล้ว ยังคงมองบวกกับสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่มโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลต่าง ๆ ผ่านช่วงที่ต้องลงทุนหนักสำหรับโครงการ greenfield และ brownfield ไปแล้วตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด สะท้อนได้จากการที่ BCH , BDMS , BH , CHG และ EKH มีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนต่ำหรือมีสถานะเงินสดสุทธิแกร่ง

ดังนั้น บล.เคจีไอ ยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ Overweight โดยครึ่งหลังปี 2567 จึงเลือก BH และ BCH เป็นหุ้นเด่นของ และ ประเมินราคาเป้าหมาย DCF ที่ 309 บาท และ 21.00 บาท ตามลำดับ และชอบ BH ในแง่ของmargin ที่แข็งแกร่งที่สูงที่สุดในกลุ่มจากการที่ผู้ป่วยมี intensity สูง และกำไรสุทธิที่คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 3 ส่วนในกรณีของ BCH มองบวกกับแนวโน้มผลประกอบการที่น่าจะพลิกฟื้นได้ตั้งแต่ 3 ปี 2567 เป็นต้นไป เพราะเชื่อว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดในรอบปีนี้ไปแล้วในไตรมาส 2 สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าผลการดำเนินงานของ BCH จะน่าตื่นเต้นจากการเข้าสู่ช่วงที่จำนวนผู้ป่วยชาวไทยแข็งแกร่งตามฤดูกาล และการกลับมาของผู้ป่วยต่างชาติ(CLMV และตะวันออกกลาง)

 บล.เมย์แบงก์ มองกลุ่ม Healthcareแนะนำ "POSITIVE"  หลังจากมีการอัปเดทความคืบหน้าของประกันรูปแบบCo-pay กับทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คปภ.การเคลมที่เพิ่มขึ้น ทำ ให้บริษัทประกันต้องออกประกันแบบ Co-pay ซึ่งการแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบประกันไปสู่ระบบร่วมจ่าย (Co-pay) ในอนาคต โดยทาง คปภ. ได้เปิดเผยว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้การเคลมหรืออัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของบริษัทประกันสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ คปภ. และบริษัทประกันกำลังวางแผนปรับรูปแบบกรมธรรม์ไปสู่ระบบ Co-pay มากขึ้น ซึ่งคาดจะช่วยลดการเคลมที่ไม่จำเป็นได้ และคาดว่าจะทำให้เบี้ยประกันลดลงในระยะยาว และทำให้ประกันสุขภาพเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติการเจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งประกันแบบ Co-pay มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม

เนื่องจากกรมธรรม์ประกันแบบ Co-pay มีจำหน่ายบ้างแล้วแล้วในประเทศไทยสำหรับบางผลิตภัณฑ์แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยทั่วไปสำหรับประกันแบบ Co-pay ลูกค้าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนประมาณ 10-20% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด อีกทางเลือกหนึ่งคือประกันแบบ Deductible ซึ่งลูกค้าจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในส่วนแรก เช่น 20,000 บาทต่อรอบกรมธรรม์ หลังจากนั้นบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เหลือ โดยเบี้ยประกันสุขภาพแบบ Co-pay หรือ Deductibleมักจะถูกกว่าประกันสุขภาพแบบทั่วไปประมาณ 10%-60% บล.เมย์แบงก์ มองว่าประกันประเภทนี้จะค่อนข้างคุ้มค่าสำหรับผู้ที่ป่วยไม่บ่อยนัก

โดย คปภ. ได้กล่าวว่ารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ Co-pay ในอนาคตยังอยู่ระหว่างการหารือ และยังไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากมีการเริ่มดำเนินการ คาดว่าบริษัทประกันภัยทุกแห่งจะต้องเริ่มทำพร้อมกัน มิเช่นนั้น บริษัทที่เปิดตัวก่อนอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้า นอกจากนี้ คปภ. ยังกล่าวอีกว่าระบบ Co-pay คาดมีโอกาสที่ทำในทุกประเภทสินค้า โดยไม่เน้นเจาะจงไปที่กลุ่มใดเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปสา หรับ Co-pay และการเปลี่ยนไปสู่ระบบ Co-pay จะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากบริษัทประกันยังต้องการเวลาหารือข้อตกลงร่วมกัน และการออกแบบผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากประกันแบบ Co-pay ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทประกันอาจเลือกปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์บางกลุ่มเป็นแบบ Co-pay โดยเฉพาะกลุ่มที่มี Loss ratio สูง เช่น ประกันเด็ก ซึ่งหากประกันแบบ Co-pay ได้รับความนิยมมากขึ้น คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการ OPD ของโรงพยาบาลอาจลดลงในระยะสั้น เนื่องจากการเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่ไม่จำเป็นลดลง แต่ในระยะยาว เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากเบี้ยประกันที่ลดลง ซึ่งจะช่วยให้การเข้าถึงประกันเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยังคงเลือกBH เป็นหุ้นเด่นของ บล.เมย์แบงก์ เพราะแนวโน้มกำไรในไตรมาส 3 ที่แข็งแกร่งจากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจากตะวันออกกลาง , Valuation ยังคงต่ำที่สุดในกลุ่ม และมี upside risk เพิ่มเติมจาก MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียในช่วงครึ่งปีหลัง 67 และมีผลกระทบจำกัดจากการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบประกันแบบร่วมจ่าย

 บล หยวนต้า ประเมินหุ้นกลุ่ม HEALTHCARE ” มีปัจจัยลบที่กดดันราคาหุ้นกลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ตลาดได้รับรู้ไปแล้วทั้งเรื่องประเด็นประกันสังคม Adj RWมากกว่า 2 และลูกค้าคูเวตที่หายไป ขณะแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดผลประกอบการเติบโตกว่าครึ่งปีแรก และเติบโตจากปีก่อน นอกจากเข้าไฮซีซั่น การระบาดของโรคเพิ่มจากปีก่อนและรับผลบวกการฟื้นตัวของผู้ป่วยต่างชาติ

ดังนั้น ปี 2567 คาดกำไรปกติของกลุ่มโรงพยาบาล เติบโตจากปีก่อน 13% ทั้งจากการฟื้นตัวของลูกค้าต่างชาติและผลบวกเต็มปีจากการปรับค่าหัวประกันสังคม และการเติบโตจากการขยายธุรกิจและการแพทย์เฉพาะทาง

บล.หยวนต้า จึงคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงพยาบาล "มากกว่าตลาด " เนื่องจากกลุ่ม โรงพยาบาลมีความ Defensive ปลอดภัยในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกำไรยังมีแนวโน้มเติบโตดี ภาพระยะกลางถึงยาว เป็นบวก จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ โดยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ภาครัฐสนับสนุนให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น จึงเลือก BDMS (36.20) เป็น Top pick ด้วยความเป็นโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายสูงสุด จึงรับผลบวกโดยตรงจากการฟื้นตัวของคนไข้ต่างชาติ และบริษัทมีแผนขยายธุรกิจโรงพยาบาลต่อเนื่อง หนุนการเติบโตในระยะยาว และแนวโน้มครึ่งปีหลังกำไรเติบโตดี ขณะหุ้นที่น่าสนใจรองลงมาคือ BCH (21.80) ซึ่งก่อนหน้านั้นราคาหุ้นปรับลดลง สะท้อนปัจจัยลบเรื่องประกันสังคมปรับลดค่า Adj RWมากกว่า2 และเรื่องลูกค้าคูเวตไปหมดแล้ว

โดยสรุปจะพบว่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ยังเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างปลอดภัยแม้จะรับผลจากปัจจัยลบช่วงสั้นแต่ระยะยาวนั้น โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นหุ้นที่มีน่าสนใจ และยังน่าลงทุนจากผลประกอบการที่เชื่อว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะได้แรงสนับสนุนจากปัจจัยฤดูกาลรวมทั้งโรคต่างๆ ที่มีมากขึ้น ส่งผลดีต่อกลุ่มการแพทย์