xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.69 รอลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ถ้อยแถลงเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 ม.ค.) ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์  แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันที่ผ่านมาที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.67-34.80 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น +0.2% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (+3.3%y/y น้อยกว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ลงบ้าง พร้อมกับทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่า) เพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่เร่งรีบปรับสถานะถือครองสกุลเงินต่างๆ มากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการรีบาวนด์ขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกเหนือจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เงินบาทได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการรีบาวนด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้เพียง 18%

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุดผู้เล่นในให้โอกาสราว 12% ที่ BOE จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาส ECB ลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ลงเหลือ 36%

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยเรามองว่า BI อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงกลับสู่เป้าหมายของ BI แล้วก็ตาม

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับยังอยู่แถว 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้

เนื่องจากล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้เพียงราว 18% ทำให้เรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาตามที่ตลาดคาด หรือไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดไปมาก เช่น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 3.0%y/y หรือ เกิน +0.5%m/m อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งไปมากนัก ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways เงินบาทอาจไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ต่อเช่นกัน

แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าชัดเจน จะสามารถทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ โดยอาจเห็นการปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง เหลือไม่ถึง 100% ซึ่งภาพดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ จนหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในครั้งนี้ เรามองว่าดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) มีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 110 จุดอีกครั้ง ส่วนบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทะลุโซน 4.80% ได้ไม่ยาก กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทะลุโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ (ต้องจับตาว่า ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอย่างไร หากปรับตัวลดลงด้วยจริง จะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง)

ส่วนในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด เช่น +0.2%m/m ถึง +0.3%m/m หรือต่ำกว่า +2.9%y/y จะช่วยคลายกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อาจย่อตัวลงได้ หนุนให้ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้น ส่วนเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น