xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ธ.ค.ลดต่อเนื่อง 8 เดือนติด ธุรกิจไม่ลงทุนเพิ่ม กังวลขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือน ธ.ค.67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.67 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 48.8 ในเดือน พ.ย.67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 (ตั้งแต่เดือน พ.ค.67) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับปกติ) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

- ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ธ.ค.ลดต่อเนื่อง 8 เดือนติด ธุรกิจไม่ลงทุนเพิ่ม กังวลขึ้นค่าแรง

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.9

- ภาคกลาง อยู่ที่ 48.8 ลดลงจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.0

- ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.6 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.5

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 47.6

- ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.3

- ภาคใต้ อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือน ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.6

ปัจจัยลบ ได้แก่

1.การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกที่ช้าลงหรือชะลอตัวลง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

2.เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจที่อาจจะไม่เติบโต

3.ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

4.ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการ และขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย

5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ปัจจัยบวก ได้แก่

1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25%

2.มาตรการของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น เงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท การเตรียมแจกเงิน 10,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ

3.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น

4.การส่งออกไทยเดือน พ.ย.67 ขยายตัว 8.17%

5.ครม. เห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี

6.รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ผ่านโครงการ Easy E-Receipt

7.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง

8.ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในต่างจังหวัด


ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ขอให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง จากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ หรือค่าจ้างแรงงาน

2.เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน

3.การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ และสร้างความโปร่งใสในการจัดการปัญหาในระยะยาว

4.มาตรการป้องกันรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อให้ทุกภาคส่วนตั้งรับในการเผชิญเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

5.การดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ

6.การรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ภายใต้บรรยากาศที่อาจไม่ดีมาก เพราะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Index) ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ โดยพบว่าสาขาการลงทุน สาขาการท่องเที่ยว และสาขาเกษตรยังเติบโตได้ไม่โดดเด่น ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่กล้าจะลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้ยังไม่มีการจ้างงานเพิ่ม

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ รวมถึงกรณีที่สหรัฐฯ แซงก์ชันรัสเซีย ซึ่งจะมีผลต่อราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซที่อาจสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น