xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.69 แกว่งตัวในกรอบ Sideways รอลุ้นรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ม.ค.) ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันที่ผ่านมาที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.85 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.66-34.82 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง อีกทั้งในส่วนของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็รีบาวนด์ขึ้นบ้าง จากที่อ่อนค่าลงหนักในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลงบ้าง หนุนให้ทั้งสองสกุลเงินสามารถทยอยรีบาวนด์ขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง หลังเงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าหลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมา ตามความกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ซึ่งหนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.80%

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนธันวาคมของสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาใกล้ชิด พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้เพียง 18%

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคม พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และเจ้าหน้าที่ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสองธนาคารกลางหลักดังกล่าว โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB มีโอกาส 81% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้ ส่วน BOE ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 65% ที่ BOE จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ ตามเวลาประเทศไทย โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับยังอยู่แถว 34.60 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่าแม้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทว่า รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีที่รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เร่งตัวสูงขึ้นและออกมาสูงกว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาใกล้ชิดนั้น เสี่ยงจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน (และตลาดอาจยิ่งกังวลมากขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด) ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจยิ่งชะลอการลดดอกเบี้ยจนเป็นไปได้ว่าในปีนี้ เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ยเลย โดยภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ นอกจากนี้ จากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวน +/-0.15% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวันนี้ เราประเมินว่าทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้เช่นกัน โดยหากนักลงทุนต่างชาติกลับมามีความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยมากขึ้น หลังจากงาน Dinner Talk “Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market” อาจช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท ที่อาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง หรือ โฟลว์ซื้อน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น