"ธุรกิจโรงแรม" ถือว่าเป็นดาวเด่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ในปี 2567 ที่ผ่านมา เติบโตอย่างมาก ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทยใกล้เคียงกับตัวเลขก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งความสัมผัสของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะมีส่วนกระตุ้นและขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาขยายตัวได้ดี แม้จะไม่มากเท่าก่อนเกิดโควิด แต่เป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปี 2568
โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ล่าสุดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยแล้วกว่า 33 ล้านคน โดยเชื่อว่า ณ สิ้นปี จำนวนนักท่องเที่ยวจะเกินเป้า 35 ล้านคนที่วางไว้แน่นอน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ราว 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 197-198 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งรอลุ้นว่าช่วงปลายปีอาจจะไปได้ถึง 200 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 9 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 67 รวมทั้งสิ้น 2.6-2.7 ล้านล้านบาท
สำหรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 68 ตั้งไว้ที่ 40 ล้านคน หรือกลับมาเท่าระดับเดิมก่อนช่วงโควิด-19 ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมาย best case ไว้ที่ 39 ล้านคน ส่วนไทยเที่ยวไทย วางเป้าหมายไว้ที่ 200 ล้านคน/ครั้ง คาดสร้างรายได้โตจากปี 67 ประมาณ 7.5%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา มาจากปัจจัยบวกในเรื่องของการเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว Summer Holiday ของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในเกือบทุกกลุ่มทั้งกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short Haul)และกลุ่มตลาดระยะไกล (Long Haul) อีกทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่นจากมาตรการยกเว้นวีซ่า สร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวกว่า 1,501,157 ล้านบาท
โดยประเทศจีน ยังคงเป็นชาติที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยสูงที่สุดจำนวน 6,325,694 คน ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย 4,586,284 คน อินเดีย 1,961,246 คน เกาหลีใต้ 1,723,423 คน และรัสเซีย 1,551,205 คน
สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา ททท.คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 35 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 73.61 ปรับตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.32 ซึ่งพบว่าบางโรงแรมมีอัตราการเข้าพักสูงกว่าร้อยละ 80 โดยได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินเดีย มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และรัสเซีย เป็นต้น การเติบโตของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ยังคงผลให้เกิดการ "ซื้อขายโรงแรม" ในประเทศไทยมีความคึกคักเป็นอย่างมาก
โดยพบว่า สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสของปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา พบว่า เกิดการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยประมาณ 12 แห่ง ประมาณ 3,199 ห้องพัก ด้วยมูลการซื้อขาย 16,778 ล้านบาท และทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และสมุย และมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายอีกเป็นจำนวนมาก และมีการคาดการณ์ ในปี 68 แนวโน้มการซื้อขายโรงแรมยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม หรือทำธุรกิจอสังหาฯ และมีพอร์ตโรงแรมอยู่จะขายโรงแรมออกไป ขณะที่ยังมีโรงแรมที่อยู่ในทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่นักลงทุนหลายแห่งให้ความสนใจเช่นกัน
สำหรับภาพรวมตลาดโรงแรมในประเทศไทยในปี 2568 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลาดโรงแรมในประเทศไทยจะยังคงเติบโตแบบ "เข้มแข็ง" ปัจจัยบวกจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดการณ์ว่าจะยังคงเลือกที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น การสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงการเมืองภายในประเทศไทยสงบเรียบร้อย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความมั่นใจ และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ย รวมค่าห้องพักรายวันเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมปี 68 จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จำนวนห้องพักในโรงแรมของกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 109,439 ห้อง โดยมีโครงการที่โดดเด่นคือ โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นการกลับมาของโรงแรมระดับตำนานในกรุงเทพฯ การกลับมาของงานอีเวนต์ระดับนานาชาติในกรุงเทพฯ หลังจากช่วงเงียบเหงาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังเมืองมากขึ้น ทั้งยังการแพร่หลายของการทำงานออนไลน์ ช่วยกระตุ้นตลาดโรงแรมให้กลับมาคึกคัก อุปทานโรงแรมทั้งหมดเพิ่มขึ้น +8.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวันปรับตัวดีขึ้นอย่างมากหลังช่วงโควิด โดยขณะนี้กลับมาเกือบถึงระดับก่อน โควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมระดับ Luxury ที่มีอัตราค่าห้องพักสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19