xs
xsm
sm
md
lg

TPCH ปักธงปี 68 ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งใน-นอกเต็มสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” เปิดแผนธุรกิจปี 68 ลุยขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เต็มกำลัง ฟากบิ๊กบอสเผยเดินหน้าก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ไตรมาสแรกนี้ พร้อมเร่งขายคาร์บอนเครดิต เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ หนุนโตมั่นคง 
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะและโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ในส่วนของต่างประเทศ แบ่งเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) รวมทั้งโครงการพลังงานลม ที่ประเทศกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายผลงานในปีนี้เติบโตจากปีก่อน เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80.7 เมกะวัตต์ รวมทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT)  จำนวน 1 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 90.2 เมกะวัตต์ 

“ในปีนี้ เรามั่นใจว่าจะสามารถทำรายได้ให้เติบโตจากปีก่อน เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้าที่ตัดจำหน่ายออกไป นอกจากนี้ มีการควบคุมต้นทุนของค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว ยังสามารถเดินเครื่องได้ตามปกติตามแผนงาน ประกอบกับมีการนำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกโครงการ ได้จดทะเบียนสำหรับคาร์บอนเครดิต และ I-RECs เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ในการขายคาร์บอนเครดิต สนับสนุนผลงานของบริษัทให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว” นางกนกทิพย์ กล่าว

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ มีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ซึ่ง TPCH เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2568 โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี ส่วนของการลงทุนในประเทศกัมพูชา โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานลมประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ โดยพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรได้ภายในไตรมาส 1/2568 ขณะที่ มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการพลังงานขยะชุมชนในรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 29.3 เมกะวัตต์ และยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าในประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการในต่างประเทศ กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม


กำลังโหลดความคิดเห็น