xs
xsm
sm
md
lg

พิษ Force Sell ไม่จบแค่ RS ฟื้นศรัทธาต้องหงายไพ่รายใหญ่ RS การเงิน&ธุรกิจมีความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Force Sell หุ้น "อาร์เอส" สะท้อนเกมจำนำหุ้นที่ระบาดเมื่อกลางปีก่อนยังไม่จบ คาดยังมีอีกหลายบริษัททยอยเปิดแผล เตือนรายย่อยเตรียมรับกรรม จี้ Regulator เร่งมาตรการเปิดเผยข้อมูลรายใหญ่ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น ส่วน RS ภาพรวมสั่นคลอนฐานะการเงินไม่แข็งแรง 2 ธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายในการฟื้นตัว แถม Force Sell รอบนี้ยังบั่นทอนศรัทธานักลงทุน

ปรากฏการณ์หุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS และบริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ปรับตัวลดลงหนักจนมาทำราคาต่ำสุด (ฟลอร์) และยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ วันที่ 7 ม.ค.68 อาจจะดูเหมือนเป็นประเด็นร้อนประเด็นแรกของตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปี 2568 แต่หากเท้าความสักนิดเหตุการณ์แบบนี้มันเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนกลางปี 2567 แล้ว เพียงระเบิดที่เกิดขึ้นกับ RS นั้นเวลาในการจุดชนวนมันเลื่อนออกมา

ล่าสุด (10 ม.ค.) ราคาหุ้น RS อยู่ที่ระดับ 1.50 บาท ลดลง 72% จากราคาซื้อขายสูงสุด 5.40 บาท (7 ม.ค.) ขณะที่ RSXYZ ณ วันที่ 10 ม.ค.68 อยู่ที่ 0.80 บาท ลดลง 48% จากราคาเปิด (7 ม.ค.) อยู่ที่ 1.55 บาท

เหตุผลต่อการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นทั้ง 2 นั้นเกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “เฮียฮ้อ” นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งถือหุ้น RS สัดส่วน 22.32% หรือ 487 ล้านหุ้น และถือหุ้นใน RSXYZ สัดส่วน 16.35% หรือ 257 ล้านหุ้น ถูกบังคับขาย หรือ Force Sell จากการจำนำหุ้นนอกตลาดจนนำไปสู่ราคาหุ้นกลุ่ม RS ร่วงลงรุนแรง 

ทั้งนี้ เมื่อ 9 ม.ค. ทางบริษัทออกมายอมรับแล้วว่า การที่ราคาหุ้น RS ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคลของผู้บริหาร ซึ่งใช้หุ้นจำนวนหนึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคล เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงจึงเกิดการขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไข (Force Sell) ขณะที่อีกสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในตลาด สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงสภาพคล่องทางธุรกิจของบริษัท เพราะการจำนำหุ้นนอกตลาด

นอกจากจะเป็นหนึ่งในวิธีสร้างรายได้ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ (ส่วนบุคคล) แล้ว เครื่องมือดังกล่าวก็ถูกกล่าวอ้างว่าช่วยเสริมสภาพคล่องที่ง่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ และง่ายต่อโอกาสในการทำกำไร แต่ก็เป็นดาบสองคมที่ควรคิดก่อนทำหากต้องการให้การดำเนินธุรกิจมีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยตลาดเป็นขาลง ราคาหุ้นอาจมีแต่แรงขายจนทำให้ไม่สามารถประคองสภาพคล่องไปได้ ยิ่งบวกกับสถานะการเงินของกลุ่มอาร์เอสในปัจจุบันนั้นมีปัญหา ทำให้เสนอขาย Big Lot ของบริษัทไม่น่าสนใจ

เท้าความเหตุ "โรคจำนำหุ้นระบาด?"

การบังคับขายหุ้น หรือ Force Sell เป็น Talk of the Town มาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2567 นั่นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวตลาดหุ้นไทยกำลังเกิดวิกฤตระรอกใหม่ เมื่อหุ้นนับสิบๆ บริษัท ราคาร่วงลงไปกองกับพื้น โดยตัวการสำคัญที่ก่อชนวน Force Sell กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของหุ้นเสียเอง

การกล่าวอ้างหยิบยกเหตุผลมีความเชื่อว่า เหตุผลเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น หรือเจ้าของหุ้นจำนวนมากประสบปัญหาสภาพคล่อง เงินขาดมือ หรือต้องการหาเงินพยุงราคาหุ้นตัวเอง จึงเสนอขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทที่ให้บริการปล่อยเงินกู้ โดยนำหุ้นวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูง ระดับ 12% ต่อปีหรือมากกว่า แต่เจ้าของหุ้นพร้อมสู้ราคา ยอมนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมูลค่าหุ้นอาจถูกประเมินราคาเพียง 20% หรือ 30% จากราคาที่ซื้อขายในกระดาน เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องตัวเอง หรือใช้ในการสร้างผลกำไร

โดยปัญหาการถูก Force Sell ที่ระบาดในช่วงนั้นเกิดขึ้นจากราคาหุ้นนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กลับปรับตัวลงต่ำ จนมีผลต่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินและบริษัทผู้ปล่อยกู้ เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม หรือ Call Margin แต่ถ้าเจ้าของหุ้นไม่สามารถนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันเพิ่ม ผู้ปล่อยกู้จึงป้องกันความเสี่ยงของตัวเองโดยการนำหุ้นออกขาย หรือการบังคับขาย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาการกู้ ถือเป็นการกดดันให้เจ้าของหุ้นตกอยู่ในภาวะจำยอม เพราะไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางค้ำประกันเพิ่มได้ 

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ช่วงที่หุ้นถูก Force Sell หลายบริษัท กลับมีเจ้าของหุ้นบางรายไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจต่อการปรับตัวลดลงของราคา หรือไม่ได้ทุกข์ร้อนกับการถูกบังคับขาย กลับยินยอมพร้อมใจต่อการการถูก Force Sell ด้วยเหลี่ยมทางธุรกิจ เพราะตั้งเป้าหมายหรือมีแผนที่จะนำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น และนำเงินมาซื้อขายหรือเล่นหุ้นตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้ มีรายงานว่าเจ้าของหุ้นบางรายยังนำเงินมาร์จิ้นไปใช้ปั่นราคาหุ้น หรืออาจมีนอมินี รวมถึงนักลงทุนขาใหญ่ร่วมขบวนการปั่นด้วย

ที่ผ่านมาแม้ไม่มีกฎข้อห้าม ไม่ให้ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนเล่นหุ้นหรือซื้อขายหุ้นตัวเอง แต่โดยหลักการแล้ว เจ้าของหุ้นไม่ควรเล่นหุ้นตัวเอง และควรมุ่งมั่นทุ่มเทการบริหารงาน เพื่อสร้างผลประกอบการบริษัทให้เติบโต เพื่อนำผลตอบแทนที่ดีสู่ผู้ถือหุ้น แต่จนแล้วจนรอดผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนมักอดไม่ได้กับโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งจากราคาหุ้น เพราะมีช่องทางที่เปิดกว้าง และมีความได้เปรียบกว่านักลงทุนทั่วไป ด้วยเพราะตนเองนั้นมีข้อมูลภายในอยู่ในมือ รู้ว่าบริษัทมีกำไรดีหรือไม่ หรืออาจจะสร้างข่าว เช่น การขยายการลงทุน หรือข่าวแนวโน้มการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นราคาหุ้น

สิ่งที่น่ากังวลจากเล่ห์เหลี่ยมเหล่านี้ คือ ในช่วงที่หุ้นมีความคักคัก ราคาถูกลากขึ้นไปสูงๆ ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่จะทยอยเทขายหุ้นโกยกำไรอย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องรายงานการจำหน่ายหุ้น เพราะขายหุ้นจากนอมินีที่ถือหุ้นแทนไว้ แต่ถ้าหุ้นเกิดความผันผวน ราคาหุ้นทรุดฮวบลงมา และถูก Call Margin เราจะได้เห็นเจ้าของหุ้นบางคนเลือกที่จะไม่นำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันเพิ่ม ทั้งที่มีทรัพย์สินที่จะวางเป็นหลักประกันเพิ่มได้ แต่กลับยอมให้ถูก Force Sell จากนั้นก็ออกมาตีหน้าเศร้า เสียใจหรือเสียดายที่ถูก Force Sell ไปโดยอ้างความจำเป็นบีบบังคับ 

แม้ไม่เป็นที่แน่ชัด หรือชี้ชัดได้ว่าเจ้าของหุ้นรายใดเล่นเหลี่ยมนี้กับตลาด แต่นอกจากเหนือจากความเสียหายของเจ้าของหุ้น ผู้ที่น่าจะย่อยยับกว่านั่นคือนักลงทุนรายย่อยที่เข้าถือหุ้นเหล่านั้นอยู่โดยไม่รู้ตัวว่าหุ้นจะดิ่งลงแรงจากสาเหตุเหล่านี้

RS ความเสี่ยงเพิ่มพูน

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุถึงจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย RS นั้นอยู่ที่ 8,506 ราย ซึ่งต้องรับเคราะห์จากการที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองบริษัทนำหุ้นไปจำนำ จนถูกบังคับขายหุ้น จุดชนวนให้หุ้นร่วงมาต่อเนื่อง

โดยมีรายงานว่าหุ้น RS ที่ถูกนำไปจำนำมีอยู่ประมาณ 222 ล้านหุ้น หรือ 10% กว่าของทุนจดทะเบียน ขณะที่ “เฮียฮ้อ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารถือ RS ในสัดส่วน 22.32% ของทุนจดทะเบียน ได้ขายหุ้นออกตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2567 รวมแล้ว 31.17 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 175.43 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าเป็นรายการถูกบังคับขาย

นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า เฮียฮ้อกู้เงินจากหลายแหล่งรวมกันประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงการกู้เงิน 104 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี ระยะเวลากู้ 10 เดือน จากบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA เมื่อปี 2566 ซึ่งไม่รู้ว่าชำระคืนให้ ZIGA หรือยัง?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางสำนักมีความเป็นห่วงต่อความเสี่ยงในหุ้น RS เพราะมีหนี้สินรอชำระจำนวนมาก และยังมีความเสี่ยงจากการถูกบังคับขายหุ้น ขณะที่ผลประกอบการทรุดลงมาก โดยงวด 9 เดือนแรกปี 2567 กำไรสุทธิเหลือ 12 ล้านบาท จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,366.95 ล้านบาท

ดังนั้น จุดเสี่ยงของ RS ขณะนี้อยู่ที่หนี้ที่รอการชำระ และหุ้นที่เฮียฮ้อนำไปวางค้ำประกันเงินกู้ไว้ และอาจถูกบังคับขายตามมาอีกเป็นระลอก และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนสติผู้ควบคุมกลไกตลาด และผู้ควบคุมกฎเกณฑ์การซื้อขายว่า วิกฤต Force Sell ที่ปะทุขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2567 และหุ้นนับสิบตัวที่ต้องสังเวยการถูกบังคับขาย จนผู้ถือหุ้นรายย่อยนับแสนคนกลายเป็นผู้รับเคราะห์นั้น ยังมีท่าทีไม่จบลงง่ายๆ แม้ตลาดหลักทรัพย์จะเตรียมออกมาตรการควบคุมการนำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาร์จิ้น หรือวงเงินกู้ทั่วไปของผู้ถือหุ้นใหญ่

คาดวิกฤตจำนำหุ้นยังไม่จบ

ขณะเดียวกัน ในแวดวงตลาดหุ้นบางส่วนต่างคาดว่าหลังจากนี้ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นหุ้นอีกหลายตัวจะต้องเจอกับวิกฤตการบังคับขายจนราคาร่วงติดฟลอร์กันเป็นว่าเล่น และนักลงทุนรายย่อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็เตรียมขาดทุนกันป่นปี้เช่นเดิม นั่นเพราะยังมีหุ้นอีกนับสิบบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปจำนำไว้ และวันดีคืนดีอาจถูกบังคับขาย สร้างหายนะให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่รู้จบ 

ดังนั้น ตัวนักลงทุนเองต้องสำรวจพอร์ตตัวเอง ว่ามีหุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็กตัวไหนที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้บ้างหรือไม่? เพราะถ้ามีต้องพิจารณาทบทวนว่าจะตัดขาดทุนขายทิ้งไปก่อนดีหรือไม่ ซึ่งหากเป็นแบบนั้นสู้ชิงขายทิ้งเผ่นหนี ก่อนเผ่นออกไม่ทันน่าจะดีกว่าเอาเงินมาจมอยู่ในซากตลาดที่ความเชื่อมั่นถูกบั่นทอนมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเพราะเรื่องแบบนี้ และหนทางที่ดีสุดต่อการกู้คืนศรัทธาคงหนีไม่พ้นการเร่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่าช้าที่จะเปิดเผยความชัดเจน

Regulator ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ

ขณะที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาระบุว่า เรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาว่าเกิดจากอะไร ซึ่งในเรื่องของการจำนำหุ้น หรือการใช้บัญชีมาร์จิ้น และการถือสถานะในตลาดฟิวเจอร์สนั้น เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแล ขณะที่บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามในเรื่องการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ทำงานร่วมกับทาง ก.ล.ต. ในการปรับปรุงและยกระดับการรายงานข้อมูลกับนักลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงการอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงการเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่นำไปค้ำประกัน เพื่อให้นักลงทุนประกอบการตัดสินใจลงทุน

ส่องศักยภาพธุรกิจ RS

กลับมาโฟกัสที่หุ้น RS ล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เป็นเพียงไม่กี่สำนักที่ออกมาประเมินถึงทิศทางราคาหุ้นและธุรกิจของ RS ในช่วงเวลานี้ แสดงความเห็นว่า วันที่ 7 ม.ค. ราคาหุ้น RS ลดลง 30.09% มาปิดที่ 3.74 บาท ด้านมูลค่ากาซื้อขาย 74 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ย/วันย้อนหลัง 3 เดือนที่ 27 ล้านบาท

ขณะที่ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3/67 บริษัทรายงานผลการดำเนินงานปกติขาดทุน 301 ล้านบาท (พลิกจากกำไร 71 ล้านบาทในไตรมาส 3/66) เนื่องจากรายได้ลดลง -37% yoy และ-20% QoQ ตามการหดตัวของธุรกิจ Commerce และ Entertainment และแนวโน้มไตรมาส 4/67 คาดว่า RS จะยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติ

ด้านฐานะทางการเงิน ณ สินไตรมาส 3/67 บริษัทมีหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,839 ล้านบาท แบงเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1,507 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาว 1,835 ล้านบาท (ครบกำหนด 1 ปี 502 ล้านบาท) และมีหนี้สินสัญญาเช่าทางการเงิน 497 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น 3,141 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน 1.5 เท่า ทำให้มองว่าฐานะการเงินไม่แข็งแรงนักภายใต้สภาวะที่ผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มขาดทุน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พ.ย.67 บริษัทมีการแจ้งยกเลิกการเข้าลงทุนใน GIFT (ปัจจุบันคือ RSXYZ) เนื่องจากราคาหุ้น GIFT มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเงื่อนไขทางธุรกิจที่ตกลงไว้เดิมอาจไม่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ทั้งที่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สำนักงานก.ล.ต.สั่งให้ RS ชี้แจงข้อมูลในการปรับโครงสร้างบริษัท 

ขณะเดียวกัน พบว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท RS มีการขายหุ้น 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5-10 ล้านหุ้น ในราคาหุ้น 5.5-5.86 บาท แม้จะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด แต่มองว่าไม่เป็นบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยตามรายงานของ ตลท. เดือน พ.ย.2567 พบว่าหุ้น RS ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์วางเป็นประกันบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าจำนวน 222 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยมีความเสี่ยงถูก Force Sell เมื่อราคาหุ้นลดลง

ทำให้ยังคงไม่มีคำแนะนำและราคาเป้าหมายของหุ้น RS ในปี 2568 โดยเบื้องต้นมองการพลิกฟื้นของธุรกิจหลัก Commerce และ Entertainment ของ RS มีความท้าทายสูง ขณะที่เริ่มมีความเสี่ยงทางด้านฐานะทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น 

นอกจากนี้ RS ยังมีเงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดภายในเดือน ก.ย.68 จำนวน 502 ล้านบาท ขณะที่ RS มีเงินสด ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/67 จำนวน 306 ล้านบาท และมีความเสี่ยงราคาหุ้นจะได้รับผลกระทบจากการ Force Sell ของหุ้นที่ถูกใช้วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้น

โดยก่อนหน้า บล.กรุงศรี ได้เคยประเมินทิศทางในไตรมาส 4/67 ของ RS เมื่อเดือน พ.ย.67 ว่า ยังคงขาดทุนปกติต่อเนื่อง คาดว่าผลขาดทุนปกติลดลง QoQ ตามฤดูกาลที่ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย และมีการประตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลหนุนรายได้ Commerce และ Entertainment ฟื้นตัว แต่ไม่มั่นใจว่าผลขาดทุนปกติจะลดลง YoY จาก -128 ล้านบาทได้หรือไม่

นั่นทำให้ผลประกอบการสุทธิไตรมาส 4/67 มีความไม่แน่นอนจาก RS อยุ่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร โดยขายบริษัทย่อย และออกหุ้นเพิ่มทุนให้ Founder (ตระกูลเชษฐโชติศักดิ์) 364 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.40 ล้านบาท จะทำให้เกิดรายได้พิเศษหรือไม่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น