หุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS และหุ้น บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM กำลังเผชิญวิบากกรรมอย่างหนัก เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้และขอสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้น จนหุ้นถูกบังคับขาย หรือ FORCE SELL
ราคาหุ้น RS ทรุดลงติดฟลอร์ 30% สองวันติดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาปิดที่ 2.60 บาท ขณะที่ SCM ราคาเคยลงติดฟลอร์ 4 วันติด ล่าสุดปิดที่ 80 สตางค์ จากสิ้นปี 2566 ราคาปิดที่ 3.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายย่อย RS มีจำนวน 8,506 ราย ผู้ถือหุ้นรายย่อย SCM มีจำนวน 2,198 ราย ต้องรับเคราะห์จากการที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองบริษัทนำหุ้นไปจำนำ จนถูกบังคับขายหุ้น จุดชนวนให้หุ้นร่วงมาต่อเนื่อง
หุ้น RS ถูกนำไปจำนำประมาณ 222 ล้านหุ้น หรือ 10% เศษของทุนจดทะเบียน โดยนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือเฮียฮ้อ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ RS ในสัดส่วน 22.32% ของทุนจดทะเบียน ได้ขายหุ้นออกตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2567 รวมแล้ว 31.17 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 175.43 ล้านหุ้น ซึ่งคาดว่าเป็นรายการถูกบังคับขาย
นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า เฮียฮ้อกู้เงินจากหลายแหล่งรวมกันประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงการกู้เงิน 104 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี ระยะเวลากู้ 10 เดือน จากบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA เมื่อปี 2566 ซึ่งไม่รู้ว่าชำระคืนให้ ZIGA หรือยัง
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์บางสำนัก มีความเป็นห่วงความเสี่ยงในหุ้น RS เพราะมีหนี้สินรอชำระจำนวนมาก และยังมีความเสี่ยงจากการถูกบังคับขายหุ้น ขณะที่ผลประกอบการทรุดลงมาก โดยงวด 9 เดือนแรกปี 2567 กำไรสุทธิเหลือ 12 ล้านบาท จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,366.95 ล้านบาท
จุดเสี่ยงของ RS อยู่ที่หนี้ที่รอการชำระ และหุ้นที่เฮียฮ้อนำไปวางค้ำประกันเงินกู้ไว้ และอาจถูกบังคับขายตามมาอีกเป็นระลอก
ส่วนหุ้น SCM ก็เผชิญการบังคับขายหุ้นเหมือนกัน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกบังคับขายหุ้นไปแล้วประมาณ 38% ของทุนจดทะเบียน รายการขายหุ้นออกของผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งล่าสุด มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาว่า
นายอธิโรจน์ เลิศฤทธิ์อธิกิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ได้ขายหุ้นออกในวันเดียว 5.8% หมดสภาพจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในสัดส่วน 0.10% เท่านั้น
รายการขายหุ้นของนายอธิโรจน์ ยังต้องตีความว่า เป็นผลจากการถูกบังคับขาย หรือการขายหุ้นทิ้ง เพื่อกำเงินก้อนสุดท้ายออกจาก SCM เพราะถ้าเป็นการเทขายเพื่อต้องการเงิน จะเป็นการส่งสัญญาณว่า
ผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังเผ่นจาก SCM และผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 2 พันชีวิตจะมีชะตากรรมอย่างไร
วิกฤต FORCE SELL ปะทุขึ้นตั้งแต่กลางปี 2567 แล้ว หุ้นนับสิบตัวต้องสังเวยการถูกบังคับขาย โดยราคาดิ่งลงติดฟลอร์ต่อเนื่อง ผู้ถือหุ้นรายย่อยนับแสนคนกลายเป็นผู้รับเคราะห์ จนตลาดหลักทรัพย์ต้องเตรียมออกมาตรการควบคุมการนำหุ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมาร์จิ้น หรือวงเงินกู้ทั่วไปของผู้ถือหุ้นใหญ่
แน่นอนว่า หุ้น RS และ SCM คงไม่ใช่หุ้น 2 ตัวสุดท้าย ที่จะต้องเจอกับวิกฤตการบังคับขายจนราคาร่วงติดฟลอร์กันเป็นว่าเล่น และนักลงทุนรายย่อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ขาดทุนกันป่นปี้
เพราะมีหุ้นอีกนับสิบบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปจำนำไว้ และวันดีคืนดีอาจถูกบังคับขาย สร้างหายนะให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่รู้จบ
นักลงทุนต้องสำรวจพอร์ตตัวเอง มีหุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็กตัวไหนที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้บ้าง ถ้ามีต้องพิจารณาทบทวนว่าจะตัดขาดทุนขายทิ้งไปก่อนดีหรือไม่
ชิงขายทิ้งเผ่นหนี ก่อนเผ่นออกไม่ทัน เมื่อหุ้นถูก FORCE เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย RS และ SCM ซึ่งตายเรียบ