xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมกรรมการ CV ลอยนวล / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ถือหุ้นกู้บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV คงเตรียมทำใจไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญ สำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบอีกเช่นเคย แม้แต่ผู้บริหาร หรือกรรมการบริษัท

CV เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 8 มกราคมนี้ เพื่อขอมติขยายเวลาการไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป 1 ปี เป็นครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 21 มกราคม 2569 โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 6.25% เป็น 6.50% ต่อปี ในช่วงระยะเวลาที่ขยายอายุหุ้นกู้ออกไป

และแบ่งชำระเงินต้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นกู้ ส่วนที่เหลือจะชำระคืนในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ขยายออกไป

ข้อเสนอขอยืดเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี ผู้ถือหุ้นกู้ CV ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากลงมติอนุมัติ แต่สิ่งกังวลคือ เมื่อครบกำหนดการไถ่ถอนในวันที่ 21 มกราคมปีหน้า CV จะหาเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ได้หรือไม่

ผู้บริหาร CV จะเบี้ยวนัดอีกหรือไม่

ปัญหาฐานะทางการเงินของ CV หนักหนาจริงๆ เพราะมีธุรกรรมอันน่าสงสัยในการถ่ายเงิน โดยหลังจากเข้าตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ระดมเงินจากการขายหุ้นและออกหุ้นกู้รวมแล้วหลายพันล้านบาท

แต่เงินจำนวนนับพันล้านบาทถูกถ่ายไปเป็นค่ามัดจำซื้อสินทรัพย์หลายรายการ และมีปัญหาการเรียกคืนค่ามัดจำ หลังบริษัทประกาศยกเลิกการลงทุน จนตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ชี้แจงปมธุรกรรมอันต้องสงสัย

อนาคตของหุ้น CV อาจถูกพิพากษาไปแล้ว สุดท้ายคือความล่มสลาย ทิ้งความเสียหายให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1 หมื่นชีวิต และผู้ถือหุ้นกู้อีกนับพันราย โดยไม่รู้ว่าจะมีผู้บริหารคนใดต้องรับผิดชอบต่อการสร้างความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่

ส่วนกรรมการบริษัทเริ่มทยอยลาออกตั้งแต่เกิดข่าวฉาวโฉ่ในปัญหาหุ้นกู้ และการถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งชี้แจงปมธุรกรรมอันต้องสงสัยในการถ่ายเงินแล้ว

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ CV ตั้งแต่ปี 2567 และไม่ต้องรับผิดชอบธุรกรรมอันน่าสงสัยใดๆ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งใน CV เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ พร้อมนายอภิชาติ ลิ้มเมธี กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นการตัดตอนความรับผิดชอบใดๆ ในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา

บริษัทจดทะเบียนกว่า 800 บริษัท ถูกกำหนดให้มีกรรมการอิสระ มีกรรมการตรวจสอบ มีเงินเดือนกิน และมีหน้าที่ความรับผิดชอบ

แต่ยังไม่เคยมีกรรมการบริษัทจดทะเบียนคนใดต้องรับผิดชอบต่อการทุจริตหรือการฉ้อฉลของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน จนนำไปสู่ความล่มสลายของบริษัท และความเสียหายของผู้ถือหุ้นรายย่อย

กรรมการบริษัทจดทะเบียนอยู่กันอย่างสงบสุข มีเงินเดือนกิน มีเบี้ยประชุมใช้จ่าย ถ้าไม่ทำตัวขวางหูขวางตาฝ่ายบริหารก็อยู่ได้เรื่อยๆ

แต่ถ้ามีข่าวฉาวโฉ่ในบริษัทจดทะเบียนที่ตัวเองเป็นกรรมการอยู่ จะชิงเผ่นหนีความรับผิดชอบโดยการลาออก ตัดตอนความรับผิดชอบใดๆ

เมื่อลาออกจากบริษัทจดทะเบียนที่มีข่าวฉาวโฉ่ กรรมการเหล่านี้จะวนเวียนหาบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าไปสังกัดใหม่ เพื่อให้มีที่ยืนในสังคมและมีรายได้สม่ำเสมอ โดยไม่เคยตระหนักในบทบาทหน้าที่ปกป้องนักลงทุนแต่อย่างใด

ไม่รู้ว่าจะต้องมีกรรมการอิสระ มีกรรมการตรวจสอบไว้เพื่อสวรรค์วิมานอะไร เพราะเป็นเพียงตัวประกอบ ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน ไม่ได้กำกับ ดูแล ตรวจสอบพฤติกรรมของฝ่ายบริหาร และออกมาต่อต้านเมื่อผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนส่อพฤติกรรมทุจริต

ธุรกรรมอันต้องสงสัยว่าไม่โปร่งใส เข้าข่ายถ่ายเงินออกจาก CV ไม่เคยมีกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบคนใดออกมาโวยวายให้นักลงทุนรับรู้ ไม่เคยมีการแจ้งเบาะแสให้ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบ ทั้งที่มีส่วนรู้เห็นในธุรกรรม เพราะต้องผ่านการอนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท

เป็นเรื่องน่าตลกสิ้นดี สำหรับ ก.ล.ต.ที่ประกาศเตือนผู้ถือหุ้น CV และนักลงทุนขอให้ติดตามการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบ 3 คน แทนกรรมการตรวจสอบที่ลาออก เพราะคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนในการกำกับดูแลให้บริษัทจดทะเบียน มีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ก.ล.ต.เพ้อไปแล้วกระมัง ก.ล.ต. ตอบประชาชนได้หรือไม่ว่า บรรดากรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด มีใครใส่ใจทำหน้าที่ ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีบ้าง

ก.ล.ต.ยอมรับความเป็นจริงเสียที กรรมการบริษัทจดทะเบียนเป็นเพียงหัวโขน อยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร และยังไม่มีกรรมการบริษัทจดทะเบียนคนใดเป็นฮีโร่ หรือเป็นแบบอย่างของกรรมการที่ดี มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ และไม่ยอมให้ให้เกิดการโกงในบริษัทจดทะเบียนที่ตัวเองนั่งเป็นกรรมการอยู่โดดเด็ดขาด

กรรมการบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่มีอยู่ สักแต่ว่าเป็นกรรมการอยู่ไปวันๆ ถ้าเกิดธุรกรรมฉาวโฉ่ชิงบริษัทเมื่อใด จะพากันเผ่นหนี้ ทิ้งให้ผ็ถือหุ้นรายย่อยรับเคราะห์ เช่นเดียวกับกรรมการ CV








กำลังโหลดความคิดเห็น